Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง
RADIOFREQUENCY ABLATION (RFA)
cancer , liver ตับ , ลำไส้ใหญ่ , colon , ผ่าตัด,  รังสีรักษา, medbible

ปัจจุบันการรักษามะเร็งมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การฉายรังสีระบบใหม่ (Gamma Knife, Cyber knife, etc.) การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การให้เคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดงร่วมกับการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (TOCE or Transarterial Oily Chemo Embolization) การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง และเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของแพทย์ทั่วโลกคือ การทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน (Thermal Ablation) ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี เช่น การใช้เลเซอร์ การใช้ไมโครเวฟ การใช้คลื่นความถี่สูง แต่เทคโนโลยีที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบันคือ การใช้คลื่นความถี่สูง (Radiofrequency)

การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง

วิธีการทำลายก้อนมะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) ทำได้โดยใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับ ไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง ต่อวงจรเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) และตัวผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วยการแปะแผ่นสายดิน (ground pad) ที่หน้าขาของผู้ป่วย
 

เมื่อปล่อยไฟฟ้ากระแสสลับจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) ขนาด 50-200 วัตต์ ผ่านเข้าไปในเข็ม ซึ่งส่วนปลายเข็มเป็นขั้วไฟฟ้า (Electrode)และใช้การเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากเครื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงประมาณ 375-500 KHz จะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อรอบๆ เข็มสั่นสะเทือนและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน (Friction heat) ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบๆจนครอบคลุมก้อนมะเร็งทั้งก้อน จากการศึกษาพบว่าความร้อนที่มากกว่า 50 องศาเซลเซียสสามารถทำให้เซลตายได้

เข็ม RF มีหลายแบบแล้วแต่การออกแบบของแต่ละบริษัท
 


ภาพแสดงขณะทำ RFA โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยนำทางเพื่อแทงเข็มผ่านผิวหนังที่ชายโครงขวาของผู้ป่วย


ภาพแสดงขนาดของแผลที่ชายโครงขวาหลังรับการรักษา

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


ก่อนทำ RFA


หลังทำ RFA

สิ่งที่ควรทราบ
  1. การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งที่ดีที่สุด
  2. มะเร็งที่ใช้วิธี RFA รักษา ได้แก่มะเร็งปฐมภูมิ (Hepatocellular Carcinoma) และมะเร็งทุติยภูมิของตับบางชนิด เช่นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonic metastasis) นอกจากนี้ในปัจจุบันยังเริ่มมีการนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ในการรักษามะเร็งของ อวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด เป็นต้น
  3. รายงานการศึกษา พบว่าการทำ RFA ได้ผลดีในก้อนมะเร็งที่มีขนาดไม่เกิน 5 cm.
  4. ถ้าจำเป็นต้องทำในรายที่ก้อนมะเร็งโตกว่า 5 cm เล็กน้อย อาจทำได้โดยแบ่งทำทีละส่วนของก้อนจนครอบคลุมก้อนได้ทั้งหมด หรือ อาจทำร่วมกับวิธีการ TOCE
  5. ส่วนการพยากรณ์โรค และข้อจำกัดของการทำ RFA ขึ้นกับขนาด, จำนวน และ ตำแหน่งของก้อน แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้ให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วย
  6. การทำ RFA ทำได้หลายวิธี เช่น แทงเข็มผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง หรือทำการผ่าตัดเปิดผนังหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด, จำนวน และ ตำแหน่งของก้อน รายละเอียดการรักษาขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษา จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
  7. การทำ RFA ส่วนใหญ่มักทำในห้องผ่าตัด หรือห้องรังสีร่วมรักษา ซึ่งมีวิสัญญีแพทย์อยู่ด้วย
  8. ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการเตรียมพร้อมก่อนทำ RFA ได้แก่การเจาะเลือดตรวจค่าความแข็งตัวของเลือด และอื่นๆ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว นอกจากนี้วิสัญญีแพทย์จะช่วยประเมินความพร้อมของผู้ป่วยด้วย
  9. การแทงเข็ม RF แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ให้ เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ขณะที่เกิดความร้อนอาจรู้สึกเจ็บได้ มากหรือน้อยแล้วแต่บุคคลและตำแหน่งของก้อน วิสัญญีแพทย์จะให้ยาในระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บในขณะทำ
  10. ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ขึ้นกับขนาด, จำนวน และ ตำแหน่งของก้อน ได้แก่ ไข้ ปวด มักหายไปใน 1-2 วัน, มีอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ถุงน้ำดี กระบังลม ลำไส้ ฯลฯ ขึ้นกับตำแหน่งของก้อนมะเร็ง, กรณีใช้รักษามะเร็งปอดอาจเกิดลมรั่วออกมาในช่องเยื่อหุ้มปอด มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, เกิดการติดเชื้อ เป็นฝี หรือ มีการตกเลือด เป็นต้น แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้ให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วย
  11. ภายหลังการทำ RFA จะต้องติดตามผลการรักษาโดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภายหลังทำ RFA 1 เดือน ต่อไปทุก 3 เดือนจนครบ 1 ปี หลังจากนั้นทุก 6 เดือน บางรายจำเป็นต้องติดตามผลการรักษาโดยการทำเอ็มอาร์ไอ (ราคาสูงกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) ถ้าพบว่ายังมีก้อนมะเร็งหลงเหลืออยู่ หรือกลับเป็นใหม่ แพทย์อาจเลือกใช้วิธีทำ RFA ซ้ำ หรือใช้วิธี TOCE หรือทั้งสองวิธีร่วมกัน หรือไม่สามารถทำการรักษาด้วย RFA ซ้ำได้อีกเพราะมีข้อจำกัดใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆไป แล้วแต่ความเหมาะสม
  12. มะเร็งที่ใช้วิธี RFA รักษา ได้แก่มะเร็งปฐมภูมิ (Hepatocellular Carcinoma) มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคตับอักเสบเรื้องรังและตับแข็งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหลังทำ RFA การติดตามผลการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะทุกเซลตับตำแหน่งใดก็ได้สามารถเกิดเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนมะเร็งได้อีก แต่หากเราตรวจพบเร็วเราสามารถทำRFA ขณะก้อนยังเล็กก็จะได้ผลการรักษาที่ดี และมะเร็งทุติยภูมิของตับบางชนิด เช่นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonic metastasis) หลังทำ RFA การติดตามผลการรักษาก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการที่มีการแพร่กระจายมาที่ตับนั้นมาทางกระแสโลหิต มีการกระจายที่เรายังมองไม่เห็นด้วยภาพเอกซเรย์ (microscopic metastasis) การทำ RFA จึงต้องทำร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดดำ และสามารถทำซ้ำเมื่อเราติดตามผู้ป่วยแล้วเห็นก้อนขึ้นมาใหม่
ทำ RFA ได้ที่ไหนบ้าง

แพทย์ที่สามารถทำ RFA ได้ในประเทศไทย ได้แก่ รังสีแพทย์(รังสีร่วมรักษา) ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ทำงานในโรงเรียนแพทย์ ได้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ, สถาบันมะเร็ง, โรงพยาบาลภูมิพล, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต, โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และศัลยแพทย์บางท่านที่สถาบันมะเร็ง โดยเฉพาะรังสีแพทย์จะรับปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง แล้วดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ดังนั้นผู้ป่วยสามารถตรวจสอบข้อมูลแพทย์และการเข้ารับการรักษาได้ที่เวบไซต์ของสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาแห่งประเทศไทย www.thaivir.org หรือ e-mail address : chanyabh@yahoo.co.th

สรุป

การรักษามะเร็งตับได้หลายวิธี การผ่าตัดคือวิธีที่ดีที่สุด หากมีภาวะใดที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดไม่ได้ ก็มีการรักษาทางเลือกอื่นดังกล่าวข้างต้น แต่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่นชนิดเซลของมะเร็งนั้น ขนาดและตำแหน่งของก้อน และต้องไม่มีการกระจายไปที่อื่นนอกเหนือจากตับ เช่นถ้ามีการกระจายไปที่กระดูก สมอง แล้วการรักษาด้วยวิธีทางรังสีร่วมรักษาจะไม่เปลี่ยนแปลงพยากรณ์โรคของผู้ป่วยคนนั้น

โดย  พ.ต.ท.พญ. ชัญญา ภมรศิริ  รังสีแพทย์

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
21 March 2006

Copyright (c) 1998-2006, ThaiClinic.com. All Right Reserved.