Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

กระดูกหัก รักษาอย่างไรดี
fracture cast , surgery , splint , ortho , medbible

 

จุดมุ่งหมายของการรักษา

จุดมุ่งหมายของการรักษา เพื่อทำให้

  • กระดูกที่หักเมื่อหายแล้วกลับมาอยู่ในสภาพ ที่ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด 
  • มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด 
  • ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยเร็วที่สุด 
แพทย์พิจารณาอะไรบ้าง

มีหลายสิ่งที่แพทย์ ต้องพิจารณาก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

  • สภาพร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงดีหรือไม่ มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงหรือไม่ 
  • ผู้ป่วยอายุเท่าไร 
  • กระดูกที่หักอยู่ตำแหน่งไหน กระดูกหักมากหรือน้อยอย่างไร
  • กระดูกหักแล้วเคลื่อนที่ไปมากหรือน้อย

การที่จะเลือกรักษาโดยวิธีไหนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้ตอบคำถามและให้คำแนะนำวิธีที่ดีที่สุด แต่ ผู้ที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางรักษาในขั้นสุดท้ายก็คือ ตัวผู้ป่วยเอง 

สรุปวิธีการรักษากระดูกหัก 

1.วิธีไม่ผ่าตัด เช่น การใช้ผ้ายืดพันรัดไว้ การใส่เฝือก ซึ่งจะใช้ในกรณีที่กระดูกหักหรือกระดูกที่หักเคลื่อนที่ไปไม่มากนัก และไม่มีบาดแผลฉีกขาดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก

2.วิธีผ่าตัด ซึ่งอาจแบ่งย่อยได้เป็น 

2.1 ผ่าตัดแต่ไม่ใส่เหล็ก 
เป็นการผ่าตัดทำความสะอาดบาดแผล และจัดกระดูกให้เข้าที่ แล้วอาจใส่เฝือกหรือ เครื่องพยุงอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนหลังจากการผ่าตัด

2.2 ผ่าตัดและใส่เหล็กเพื่อยึดตรึงกระดูก
ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ลวด แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นเหล็กชนิดพิเศษ แข็งแรงกว่าเหล็ก-ธรรมดา ไม่เป็นสนิม ในคนทั่วไปจะไม่เกิดอาการแพ้ 

ข้อบ่งชี้ที่ควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ที่ควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น

  • มีกระดูกหักหลาย ๆ แห่ง 
  • กระดูกหักหลายชิ้น หรือแตกเข้าข้อ
  • กระดูกหักในผู้สูงอายุ 
  • มีการเคลื่อนของกระดูกที่หักไปมาก 
  • มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก 
  • กระดูกที่หักในบางตำแหน่งซึ่งเมื่อรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแลัวผลการรักษาจะไม่ดี เช่น กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกปลายแขน เป็นต้น
ผ่า - ไม่ผ่า อย่างไหนดีกว่ากัน …

การที่จะเลือกวิธีการรักษาแบบไหนนั้นท่านก็คงจะต้องปรึกษากับศัลยแพทย์กระดูก และข้ออีกครั้งว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง และควรจะเลือกวิธีรักษาแบบไหนที่มีข้อดีมากที่สุด และมีข้อเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็คงไม่มีวิธีไหนที่มีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสียเลย ทั้งวิธีผ่าตัด และวิธีไม่ผ่าตัด

วิธีไม่ผ่าตัด

ข้อดี คือ

  • ไม่ต้องเจ็บตัวจากแผลผ่าตัด ไม่ต้องเสี่ยงกับการเสียเลือด
  • ไม่ต้องเสี่ยงกับการให้ยาระงับความรู้สึก ทั้งการฉีดยาชาเฉพาะที่หรือการดมยาสลบ เพื่อทำผ่าตัด 
  • เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 
  • อาจจะไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอนไม่กี่วัน

ข้อเสีย คือ

  • ต้องมีการใส่เฝือกเป็นระยะเวลานาน 
  • กระดูกที่หัก อาจจะไม่ติดหรือติดช้า 
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่ต้องพักนาน ๆ เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อในปอด ท้องผูก เป็นต้น
  • กระดูกติดผิดรูป
วิธีผ่าตัด

ข้อดี คือ

  • กระดูกจะได้รับการจัดให้เข้าที่หรืออยู่ในแนว ที่ดี ทำให้กระดูกติดแล้วไม่ผิดรูป 

  • เมื่อหายแล้ว ทำให้อวัยวะนั้นกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด 

  • ผู้ป่วยได้รับการทำกายภาพบำบัดได้เร็ว ทำให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตอย่างปกติได้เร็วขึ้น

ข้อเสีย คือ

  • มีแผลเป็นจากการผ่าตัด

  • การติดเชื้อที่บริเวณแผลผ่าตัด 

  • มีความเสี่ยงจากผลแทรกซ้อนของยาระงับความรู้สึก ที่ใช้ในการผ่าตัด

  • ความเสี่ยงจากการเสียเลือด และ การได้รับเลือด

  • อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน 

  • เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง 

  • อาจจะต้องมาผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง

 โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกในบางตำแหน่ง เพื่อเอาเหล็กนั้นออกเมื่อกระดูกติดสนิทดีแล้ว เช่น การผ่าตัดดามเหล็กที่ตำแหน่ง กระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งจะต้องผ่าเอาเหล็กออกเมื่อกระดูกติดดีแล้วประมาณ 1 - 2 ปีหลังการผ่าตัดใส่เหล็กไว้

Related Article : การรักษากระดูกหักด้วยวิธีการใส่เฝือก

โดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
23 March 2001

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.