Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

การรักษากระดูกหักด้วยวิธีใส่เฝือก
fractute , cast walker , ortho , medbible

 

ทำไมต้องใส่ เฝือก หรือ เฝือกชั่วคราว ?
เพื่อช่วยพยุงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ลดปวด ลดบวม และลดกล้ามเนื้อหดเกร็ง ป้องกันไม่ให้กระดูกที่จัดเข้าที่แล้วเกิดการเคลื่อนที่ผิดรูปขึ้นอีก ซึ่งเฝือกที่ใส่อาจจะใส่เป็นเฝือกชั่วคราวแบบครึ่งเดียว หรือเฝือกแบบเต็มรอบแขนก็ได้ โดยที่เฝือกชั่วคราวแบบครึ่งเดียว จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าเฝือกแบบเต็ม 
ชนิดของเฝือก

ในปัจจุบันมีเฝือกให้เลือกอยู่ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

1. เฝือกปูน ซึ่งเป็นการนำปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาว

ข้อดี
ราคาค่อนข้างถูก (ม้วนละ 60-90 บาท) การใส่เฝือกและการตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ง่าย
ข้อเสีย
มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกร้าวง่าย ระบายอากาศไม่ค่อยดี อาจทำให้คันเพราะความอับชื้น 
ถ้าถูกน้ำเฝือกก็จะเละ เสียความแข็งแรง

2. เฝือกพลาสติก เป็นพลาสติกสังเคราะห์

ข้อดี
น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี มีสีสรรสวยงาม มีความแข็งแรงสูง 
และเวลาถ่ายภาพรังสี จะเห็นกระดูกได้ชัดเจนกว่า
ข้อเสีย
ราคาแพง ( แพงกว่าเฝือกปูนประมาณ 6-7 เท่า ราคาประมาณม้วนละ 400-600 บาท ) 
การตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ยาก ทำให้ต้องตัดออกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้ง

เวลาใส่เฝือกทำอย่างไร ?

แพทย์จะพันสำลีรองเฝือกก่อนที่จะพันเฝือก เฝือกจะต้องพันให้แน่นพอดีกับแขนหรือขา โดยทั่วไปจะใส่เฝือกตั้งแต่ข้อที่ต่ำกว่ากระดูกที่หัก ถึงข้อที่อยู่สูงกว่ากระดูกที่หัก 
เฝือกชั่วคราวจะใส่ในระยะแรกที่มีอาการบวมอยู่ และเมื่ออาการบวมลดลงก็จะใส่เป็นเฝือกเต็ม ซึ่งบางครั้งเมื่อใส่ไปช่วงหนึ่ง (ประมาณ 2 อาทิตย์) เฝือกก็อาจจะหลวมได้ เพราะอาการบวมลดลง ก็จะต้องเปลี่ยนเฝือกใหม่ หลังจากกระดูกเริ่มติดแล้ว (ประมาณ 4-6 อาทิตย์) ก็จะเปลี่ยนเป็นเฝือกชั่วคราวเพื่อสะดวกในการทำกายภาพบำบัด

ลดอาการบวม ทำอย่างไร ?

ในช่วง 48 - 72 ชั่วโมงแรกอาการบวมอาจทำให้เกิดการกดที่เฝือกได้ ทำให้รู้สึกแน่น เฝือกคับ และปวด
ซึ่งจะลดอาการบวมได้โดย

  • ยกแขน หรือ ขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เช่น การวางบนหมอน หรือ ผ้า 
  • ขยับนิ้ว หรือ นิ้วเท้า บ่อย ๆ 
  • ประคบเย็นบนเฝือก โดยใช้น้ำแข็งใส่ในถุงพลาสติกแห้งแล้วประคบรอบ ๆ เฝือกบริเวณที่ได้รับอันตราย การประคบเย็นเพียงจุดเดียวจะไม่ค่อยได้ผล 
    สัญญาณอันตรายหลังการใส่เฝือก หรือเฝือกชั่วคราว ควรพบแพทย์โดยด่วน 
  • ปวดมากขึ้น และรู้สึกว่าเฝือกคับมาก ซึ่งอาจเกิดจากการบวม 
  • อาการชา และรู้สึกซ่า ๆ ที่มือ หรือ เท้า ซึ่งอาจเกิดจากการกดเส้นประสาทมากเกินไป 
  • อาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งอาจเกิดเนื่องจากการกดผิวหนังมากเกินไป 
  • มีอาการบวมที่บริเวณต่ำกว่าขอบเฝือก ซึ่งอาจหมายถึง เฝือกทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี
  • ไม่สามารถขยับนิ้วมือ หรือ นิ้วเท้า 
การดูแล เฝือก หรือ เฝือกชั่วคราว
  • ดูแลเฝือกให้แห้งอยู่เสมอ ถ้าต้องการอาบน้ำให้หุ้มเฝือกด้วยถุงพลาสติก 2 ชั้น แล้วพันปากถุงด้วยเชือกให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปโดนเฝือก
  • ไม่ควรเดินลงน้ำหนักบนเฝือกจนกว่าเฝือกจะแห้งและแข็ง ซึ่งจะใช้เวลา 1 ชม.สำหรับเฝือกพลาสติก และใช้เวลา 2 - 3 วันสำหรับเฝือกปูน
  • พยายามอย่าให้ สิ่งสกปรก ทราย หรือ ฝุ่น เข้าไปในเฝือก
  • ไม่ควรดึงสำลีรองเฝือกออก
  • ไม่ควรใช้ไม้ หรือสิ่งอื่นใส่เข้าไปในเฝือกเพื่อเกา ไม่ควรใส่แป้งเข้าไปในเฝือก แต่ถ้าคันมากให้พบแพทย์ 
  • ไม่ควรตัดขอบเฝือกเอง
  • สังเกตผิวหนังที่อยู่ขอบเฝือก ถ้ามีอาการบวม แดง ให้ไปพบแพทย์
  • หมั่นสังเกตเฝือก ถ้าพบว่ามีเฝือกแตก หัก ให้ไปพบแพทย์

การเอาเฝือกออก

ไม่ควรเอาเฝือกออกเอง เพราะท่านอาจตัดผิวหนัง หรือ ทำให้กระดูกหายไม่ดี เมื่อจะเอาเฝือกออก แพทย์จะใช้เลื่อยสำหรับตัดเฝือก ซึ่งใบเลื่อยจะเป็นแบบสั่นไปด้านข้าง (ไม่ใช่เป็นใบเลื่อยแบบหมุน) ซึ่งเมื่อใบเลื่อยถูกกับสำลีรองเฝือก สำลีรองเฝือกก็จะไม่ขาด ทำให้ผิวหนังไม่ได้รับอันตราย เลื่อยตัดเฝือกอาจทำให้เกิดเสียงดัง และ รู้สึกร้อนจากการเสียดสี แต่ก็จะไม่ทำให้เกินอันตรายแต่อย่างใด

แนวทางในการรักษา

โดยทั่วไปถ้าไม่มีปัญหา แพทย์ก็จะนัดท่านมาตรวจซ้ำประมาณ 1 - 2 อาทิตย์หลังใส่เฝือก เพื่อดูอาการ และดูว่าเฝือกหลวมหรือไม่ ถ้าเฝือกหลวมก็อาจจะต้องเอ๊กซเรย์และเปลี่ยนเฝือกให้ใหม่ ถ้าเฝือกแน่นและแข็งแรงดีอยู่ แพทย์ก็จะนัดทุก 1-2 เดือนเพื่อเอ๊กซเรย์กระดูก จนกว่ากระดูกจะติดสนิท 
แพทย์จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4 - 6 อาทิตย์ แต่กระดูกจะติดสนิทนั้นจะต้องใช้เวลาถึง 4 - 6 เดือน ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเอาเฝือกออกแล้วกระดูกที่หักก็ยังติดไม่สนิท จึงควรระมัดระวังในการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เช่นนั้นกระดูกที่เริ่มติดก็อาจจะหักซ้ำได้ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นรักษากันใหม่


โดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
29 April 2001

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.