Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

C
o
n
t
e
n
t

นิ่วคืออะไร?
นิ่วเกิดขึ้นได้อย่างไร?
นิ่วมีกี่ชนิด?
จะทราบได้อย่างไรว่ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือไม่?
นิ่วในไต จะมีอาการอย่างไร?
นิ่วในท่อไตจะมีอาการอย่างไร?
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะจะมีอาการอย่างไร?
นิ่วในท่อปัสสาวะจะมีอาการอย่างไร?
นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะมีแนวทางการรักษาอย่างไร?
จะป้องกันอย่างไร?ไม่ให้นิ่วเกิดขึ้นมาใหม่อีก

นิ่วคืออะไร? นิ่วเกิดได้โดยการรวมตัวจับเป็นก้อนของผลึกสารที่ละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะ กับ สารคอลลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะเช่นกัน
a
นิ่วเกิดขึ้นได้อย่างไร? สาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่า สภาวะต่อไปนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ จากการศึกษาทาง  ระบาดวิทยา พบว่าสาเหตุที่เกี่ยวข้องนั้นเกี่ยวข้องกับสาเหตุภายในร่างกายของผู้ป่วยเองและ สภาพแวดล้อมตัวผู้ป่วย

ก.สาเหตุความผิดปกติที่เกี่ยวกับภายในตัวผู้ป่วยเอง

1.กรรมพันธ์ ผป.ที่พ่อแม่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้

2.อายุและเพศ
นิ่วในไต พบใน ชายมากกว่าหญิงถึง 2 ต่อ1 พบมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบมากในชายมากกว่าหญิงถึง 7 ต่อ 1
พบมากในเด็กชายอายุน้อยกว่า 7 ปี และในผู้ใหญ่ในช่วงอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป

3.ความผิดปกติในการทำงานของต่อม พาราทัยรอยด์
ซึ่งหลั่ง hormone ที่ควบคุมสาร calciumออกมามากกว่าปกติ

4.มีการตีบแคบของระบบทางเดินปัสสาวะ
ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง การตีบแคบนี้อาจมีมาแต่กำเนิด หรือ เกิดขึ้นภายหลัง

5.ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ
อันเกิดจากมีสารต่างๆถูกขับออกมาในน้ำปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือเกิดผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือ สูญเสียน้ำจากร่างกายทางด้านอื่นมาก เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในน้ำปัสสาวะจะตกผลึก ก็มีมากขึ้น

6.ความเป็นกรด/ด่างของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นกรดมากจะเกิดการตกผลึกของ กรด ยูริค,ซีสตีน, ส่วนปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะเกิดการตกตะกอนของผลึกสารจำพวก Oxalate,Phosphate และ Carbonate

7.การอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

8.วัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ

9.ยาบางอย่าง
ทำให้เกิดนิ่วได้ ยาลดกรดที่กินอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง จะเกิดนิ่วพวก Phosphate ได้ง่าย

ข.สาเหตุร่วมที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมตัวผู้ป่วย

1.สภาพภูมิศาสตร์
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมักอยู่ในบริเวณที่ราบสูง ประเทศไทยเรา พบมากในภาคอิสานและเหนือ

2.สภาวะอากาศและฤดูกาล
ในฤดูร้อนจะพบว่าผป.เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมา รพ.กันมาก อาจเนื่องจากเสียเหงื่อมากทำให้ปัสสาวะเข้มข้นทำให้นิ่วโตเร็วขึ้นจึงเกิดอาการขึ้น แต่ในฤดูหนาวเสียเหงื่อน้อย ปัสสาวะเจือจาง และ ปัสสาวะมีจำนวนมาก

3.ปริมาณน้ำดื่ม
ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ ถ้าดื่มน้ำน้อย และยังอาจเกี่ยวกับ เกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำของแต่ละท้องถิ่น

4.สภาพโภชนาการ
การบริโภคอาหารนานาชนิด และการดื่มน้ำเป็นผลให้มีการเพิ่ม/ลดของสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของก้อนนิ่ว เช่น การกินอาหารเครื่องในสัตว์,ยอดผัก,สาหร่าย, จะทำให้เกิดกรดยูริคได้
การกินอาหารจำพวกผักที่มีสาร ออกซาเลทสูง เช่น ผักโขม,ผักแผว, หน่อไม้,ชะพลู ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่ว พวกออกซาเลท เด็กเล็กที่ขาดอาหารพวกโปรตีนจะเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมาก
การขาด วิตามิน เอ หรือ ได้รับ วิตามินดี มากเกินไป ก็ทำให้เกิดนิ่วได้

5.อาชีพ
ผู้มีอาชีพเกษตรกร ทำงานกลางแจ้ง ก็จะมีการเสียเหงื่อมาก ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้น ก็อาจเกิดการตกผลึก ของสารละลายในน้ำ ปัสสาวะเกิดนิ่วขึ้นได้
ผู้ที่มีรายได้ต่ำ ก็จะบริโภคอาหารแป้งและผักมากโปรตีนน้อย ทำให้เกิดนิ่วจำพวกออกซาเลทได้ง่าย
ผิดกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการบริโภค อาหาร โปรตีน ,ไขมันมากกว่าปกติ ทำให้เกิด เป็นนิ่วพวกกรดยูริค และ นิ่วแคลเซี่ยมสูง

a
นิ่วมีกี่ชนิด? นิ่วในทางเดินปัสสาวะมีหลายชนิด มีส่วนประกอบแตกต่างกันไป นิ่วบางก้อนมีสารประกอบเพียง อย่างเดียว นิ่วบางก้อนมีสารประกอบหลายชนิด ปะปนกันอยู่
นิ่วส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ทราบได้จากการถ่ายภาพ x-ray คือเป็นนิ่วทึบแสง x-rayได้แก่นิ่วจำพวก แคลเซี่ยมออกซาเลท,แคลเซี่ยมคาร์บอเนท แคลเซี่ยมฟอสเฟต นิ่วที่เห็นจางๆในภาพฟิลม์ x-ray ก็เป็นนิ่วจำพวก ซีสตีน
นิ่วโปร่งแสงซึ่ง x-ray ไม่เห็นก็จะเป็นนิ่วจำพวก ยูริค
a
จะทราบได้อย่างไร
ว่ามีนิ่วในทางเดิน
ปัสสาวะหรือไม่?
เราจะทราบว่ามีนิ่วหรือไม่ในทางเดินปัสสาวะ โดยทำการถ่ายภาพ
รังสี x-ray  กว่าร้อยละ 90 จะพบได้ ส่วนที่เหลือซึ่งการถ่ายภาพรังสี x-ray ไม่พบก็จะเห็นได้โดยการฉีดสารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือด หรือใส่ย้อน   เข้าไปในท่อปัสสาวะ หรือ ท่อไต
a
ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต
จะมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ ถ้าหากมีอาการต่อไปนี้ก็ให้สงสัยว่าเป็นโรคไต หรือมีนิ่วในไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอวปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ สีน้ำล้างเนื้อ หากมีการอักเสบ ติดเชื้อร่วมด้วยก็จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นหนองกลิ่นเหม็นคาว หากมีการอุดตันร่วมด้วยก็จะมีก้อนในท้องส่วนบนซ้ายหรือขวาที่มีนิ่วอยู่
หากมีนิ่วที่ไต 2 ข้างและประสิทธิภาพในการทำงานเสื่อมไป
ผู้ป่วยก็จะมีอาการ ปัสสาวะน้อยลง บวม โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแห้งคล้ำและคัน ผู้ป่วยอาจจะซึม หรือ ไม่รู้สึกตัว ถ้ามีของเสียค้างอยู่ในกระแสเลือดมาก
a
ผู้ป่วยที่มีนิ่วในท่อไต
จะมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอว ปวดกิ่ว หรือ ปวดเป็นพักๆ ในข้างที่มีนิ่วข้างนั้นๆ อาจมีปวดร้าวมาท้องน้อย หน้าขา, ถุงอัณฑะ หรือ แคมอวัยวะเพศหญิง หากนิ่วอยู่ในท่อไตส่วนล่างใกล้กระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปัสสาวะบ่อย , ปัสสาวะขุ่นเป็นหนอง หากผู้ป่วยมีไตข้างเดียว หรือ มีนิ่วในไตทั้ง 2 ข้าง ผป.อาจไม่มีปัสสาวะออกมาเลย ผป.อาจบวมน้ำ หอบ เหนื่อย ประสาทสับสน หรือไม่รู้สึกตัวได้
a
ผู้ป่วยที่มีนิ่วใน
กระเพาะปัสสาวะ
จะมีอาการอย่างไร?
ส่วนมากผป.จะมีอาการปวดปัสสาวะ,ปัสสาวะขัด,ปัสสาวะสดุด,ปัสสาวะขุ่น หรือ ปัสสาวะเป็น
สีเลือดจางๆ เมื่อหยุดเบ่งผป.ก็จะได้ปัสสาวะออกมาได้ใหม่และเกิดอาการขึ้นมาอีก
a
ผู้ป่วยที่มีนิ่วใน
ท่อปัสสาวะ
จะมีอาการอย่างไร?
นิ่วในท่อปัสสาวะจะหลุดลงมาจากกระเพาะปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ผป.จะมีอาการปวดเกิดขึ้นทันที ที่กำลังปัสสาวะ ปวดร้าวมาตามอวัยวะเพศ ลำปัสสาวะจะหยุดและออกเป็นหยดๆ หรือปัสสาวะไม่ออกมาเลยก็ได้ หากคลำดูตามท่อปัสสาวะก็จะคลำพบก้อนนิ่วแข็งๆได้
a
ผู้ป่วยที่มีนิ่วใน
ระบบทางเดินปัสสาวะ
จะมีแนวทางการรักษา
อย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีนิ่วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 cm มีอาการปวดบ่อยๆหรือ ปวดรุนแรง,มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะซึ่งทำให้ไตโป่งพอง มีขนาดโตขึ้น, ทำงานลดลง,มีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยมักจะให้การรักษาทางศัลยกรรม

ผู้ป่วยที่ปัสสาวะมีนิ่วหลุดออกมาบ่อยๆ เคยผ่าตัดแล้วเกิดมีนิ่วขึ้นมาใหม่ นิ่วก้อนโตขึ้นเรื่อยๆมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย และมีความผิดปกติ ในเมตาโบลิซึ่มของร่างกาย ก็จะให้การรักษาเพื่อควบคุมป้องกันการเกิดนิ่วขึ้นใหม่ การโตของนิ่วก้อนเดิมโดยใช้ยาเฉพาะ

ผู้ป่วยที่มีนิ่วขนาดเล็ก, ไม่มีอาการปวด ,ไม่มีการอักเสบ ไม่มีการอุดตัน ไม่มีนิ่วใหม่เกิดขึ้น และขนาดของนิ่วไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็มักให้การรักษาควบคุมการเกิดนิ่วใหม่ และ การโตของก้อนนิ่วโดยใช้ยาเฉพาะและติดตามดูการเปลี่ยนแปลงนิ่วเป็นระยะๆ

a
รักษาอย่างไร?เมื่อรู้
ว่าเป็น นิ่วในไต
1.การรักษาโดยการเฝ้าดูใกล้ชิด นิ่วที่ไม่มีอาการและมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 1 cm. จะติดตามโดยการตรวจปัสสาวะว่ามีการติดเชื้อหรือไม่จะทำการติดตามโดย x-ray เป็นระยะ ดูการเปลี่ยนแปลงในขนาดของนิ่ว การทำงานของไต และการเปลี่ยนรูปร่างของไต

2.การรักษาโดยให้ยา นิ่วที่ได้ทำการวิเคราะห์ว่าเป็นนิ่วชนิดใดแล้วก็อาจให้ยาละลายนิ่วได้
นิ่วยูริคเอซิด ก็ให้ยาที่มำให้ปัสสาวะเป็นด่าง หรือ ร่วมให้ยาลดระดับยูริคเอซิด,หรือ ซีสตีน
ในเลือด,อาจให้ยาระงับความเจ็บปวดและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

3.การรักษาโดยการผ่าตัดเอานิ่วออก เมื่อนิ่วมีขนาดใหญ่ ,ไตมีการอักเสบ ,ไตโป่งพอง หรือ
ไตไม่ทำงานแล้ว

4.การรักษาโดยใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยพลังเสียงเหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 ซม.และทางเดินปัสสาวะส่วนที่ต่ำกว่าไม่มีการตีบตัน เพื่อให้นิ่วที่สลายซึ่งมีขนาดเล็กลง สามารถผ่านปนมากับปัสสาวะได้

5.การรักษาโดยใช้เครื่องส่องไตโดยผ่านรูระบายน้ำปัสสาวะจากไต ที่เปิดออกบริเวณบั้นเอว
โดยใช้คลื่นเสียง Ultrasonic หรือ Laser ทำให้การสลายให้นิ่วมีขนาดเล็กลงแล้วคีบเอาออก

a

รักษาอย่างไร?ถ้า
มีนิ่วอยู่ในท่อไต

1.การรักษาโดยการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด นิ่วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 0.5 cm มักจะหลุดออกมาภายนอกได้เอง ซึ่งสามารถทราบได้โดยการตรวจทางรังสี x-rayเป็นระยะๆ ดูการเคลื่อนที่ของก้อนนิ่วลงต่ำลงจากเดิมหรือไม่ อาจให้ยาขยายท่อไตให้กว้างขึ้น และดื่มน้ำมากๆ

2.การรักษาโดยการใช้เครื่องส่องท่อไตเข้าไปทำการคีบหรือคล้อง หรือใช้คลื่นเสียง Ultrasonic และ laser กระแทกสลายนิ่ว ให้มีขนาดเล็กลง หรือใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยพลังเสียง ถ้านิ่วอยู่ในท่อไตส่วนบนหรือส่วนล่าง หรือ หลังจากนิ่วในท่อไตถูกดันกลับเข้าไปอยู่ในกรวยไต

3.การรักษาโดยการผ่าตัด จะทำเมื่อนิ่วไม่มีการเคลื่อนที่ ไตมีการอักเสบ ไม่มีปัสสาวะไหลออก เช่นกรณีมีไตข้างเดียว หรือเป็นนิ่วในท่อไตทั้ง 2 ข้าง หรือให้การรักษาโดยใช้เครื่องส่องท่อไต หรือ สลายนิ่วแล้ว ไม่ประสบผลสำเร็จ

a
รักษาอย่างไร?ถ้ามีนิ่ว
ในกระเพาะปัสสาวะ
1.ใช้วิธีขบออก วิธีนี้ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น, นิ่วมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2cm  โดยการสอดเครื่องมือขบนิ่ว ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไป
2.ใช้วิธีผ่าตัดหน้าท้อง จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็ก , หรือมีนิ่วขนาดโตมาก หรือนิ่วที่แข็งมาก ไม่สามารถขบได้ หรือมีการอุดตันทางเดินปัสสาวะส่วนล่างทำให้ไม่สามารถถสอด เครื่องมือเข้าไปทำการขบนิ่วได้
a
รักษาอย่างไร? ถ้ามี
นิ่วในท่อปัสสาวะ
1.ใช้วิธีขบ หลังจากสามารถดันนิ่วกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
2.ใช้วิธีคีบออก ถ้านิ่วมาติดที่รูเปิดภายนอกท่อปัสสาวะ
3.ใช้วิธีผ่าตัดออกทางหน้าท้อง
4.ใช้วิธีผ่าตัดที่ท่อปัสสาวะ ตรงตำแหน่งที่นิ่วติดแน่น
a
จะป้องกันอย่างไร?
ไม่ให้นิ่วเกิดขึ้น
มาใหม่อีก
หลังจากได้ปัสสาวะมีนิ่วตามมาเอง หรือ ได้รับการผ่าตัดออกมาแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยส่วนประกอบของนิ่ว และหาสาเหตุของการเกิดนิ่ว แล้วจะทำการแก้สาเหตุนั้นๆ เช่น ต่อมทัยรอยด์หลั่ง hormone ออกมามากกว่าปกติ , แก้การตีบตันของทางเดินปัสสาวะ ให้ยาลดระดับกรดยูริค,ซีสตีน   ควบคุมเรื่องอาหาร โดยเว้นอาหารที่มีส่วนประกอบที่เป็นนิ่วนั้น และดื่มน้ำมากๆมิให้ปัสสาวะเข้มข้น เป็นการป้องกันมิให้เกิดการตกผลึกของสารเกิดขึ้นมาได้

ในอนาคต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะของเด็กไทยจะลดลง หรือหายไป เมื่อภาวะโภชนาการในเด็กไทยของเราดีขึ้น

ดัดแปลงจาก บทความในหนังสือโรคนิ่วและทางเดินปัสสาวะสำหรับประชาชน
โดย ศ.นพ.วรวัฒน์ ชุมสาย ณ อยุธยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
1 September 1999

Copyright (c) 1998-1999, ThaiClinic.com. All Right Reserved.