Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

ไตวายเรื้อรัง

 

ภาวะไตวายเรื้อรังเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของไตอย่างช้าๆและถาวร

การวินิจฉัยภาวะนี้ อาจได้จากการตรวจพบหรือมีประวัติไตวายฉับพลันมานานเกิน 3 เดือน หรือมีการตรวจพบว่าขนาดของไตเล็กลงกว่าปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีกลุ่มอาการที่เกิดจากของเสียคั่งที่เรียกว่า ยูรีเมียคือมีอาการ ซีด เพลีย เบื่ออาหาร ผิวแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน และสะอึก
สำหรับอาการบวมน้ำหอบเหนื่อย อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้มาก หรือมีภาวะที่อันตรายอื่นๆ ของยูรีเมีย เช่น ซึม ชัก มีเลือดออกแล้วหยุดยาก เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือมีค่าของเสียคั่งค้างมาก
ซึ่งบ่งบอกว่าการทำงานของไตเหลือไม่ถึง 5-10% จะเป็นภาวะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย ( End state renal disease : ESRD จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำการรักษาด้วย   วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

1. การล้างไตทางหน้าท้อง Peritoneal dialysis
2. การล้างไตทางเลือด Hemodialysis
3. การปลูกถ่ายไต ( Renal transplantation )

การล้างไตทางหน้าท้อง ( Peritoneal dialysis )

การล้างไตทางหน้าท้อง มีการพัฒนามาร่วม 70 ปีมาแล้ว อาจทำเป็นแบบชั่วคราว ซึ่งล้างได้ประมาณ 72 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยไตวายฉับพลัน หรือแบบถาวร ซึ่งจะทำการล้างท้องอย่างต่อเนื่อง มีหลักการคือใส่น้ำยาที่สะอาดประกอบไปด้วยเกลือแร่ที่เหมาะสม ลงไปในช่องท้อง และทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ก็จะมีการดึงของเสียจากเลือดลงมาอยู่ในน้ำนี้จากนั้นถ่ายเทน้ำออก และใส่น้ำใหม่เข้าไป และทิ้งไว้อีก กระทำแบบนี้ไปเรื่อยๅ  วิธีหนึ่งที่ทำบ่อยคือทำทุกวันวันละ 4 รอบ โดยผู้ป่วยต้องมา รับการใส่สายทางช่องท้องก่อน และมารับน้ำยาไปเปลี่ยนทำเองที่บ้านหรือที่ทำงานได้ มีข้อดีคือไม่ต้องขาดงานไม่เสียเวลามาโรงพยาบาลบ่อยๆ ผู้ป่วยจะทานอาหารได้โดย ไม่ต้องคุมอาหารมากนักและมักจะแข็งแรงพอสมควร แต่ก็ต้องมีสายทางหน้าท้องตลอด

ภาวะที่แทรกซ้อนที่พบบ่อยคือน้ำยาติดเชื้อจึงต้องมีการระวังความสะอาดและ ฝึกเปลี่ยนน้ำยาโดยวิธีที่ปลอดเชื้อ

ในทางการแพทย์ ข้อที่เหมาะสมของการล้างไตวิธีนี้โดยคร่าวๆได้แก่
ผู้ที่ไม่สามารถจะล้างไตทางเลือดได้ เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีเส้นเลือดที่แข็งแรงพอที่จะล้างไตทางเลือด

ข้อห้ามของการล้างไตวิธีนี้ได้แก่

  • มีภาวะพังผืดในท้องมากจากการผ่าตัดเก่าที่บริเวณหน้าท้อง

  • มีการวางท่อระบายอุจจาระทางหน้าท้อง

  • มีโรคถุงลมโป่งพองและในผู้ป่วยที่อาจจะหายใจลำบากเมื่อมีการปล่อยน้ำเข้าทางหน้าท้อง

ส่วนภาวะที่เป็นข้อที่ควรระวังแต่ไม่ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาดได้แก่
ภาวะไส้เลื่อน ไขมันในเลือดสูง หรืออ้วน เป็นต้น

การล้างไตทางเลือด (Hemodialysis )

มีหลักการคือให้ของเสียจากเลือดซึมผ่านตัวกรองมายังน้ำยา ซึ่งเรียกว่า ไดอะไลเสท การล้างไตวิธีนี้ จะต้องมีเครื่องล้างไต ซึ่งจะมีตัวกรองแยกต่างหาก ตัวกรองมีลักษณะเป็นท่อนกลมคล้ายกระบอก ไม้ไผ่ยาวประมาณ 15-20 ซ.ม. ในตัวกรองที่เล็กแค่นี้ประกอบไปด้วยหลอดเล็กนักหมื่นหลอดอยู่ข้างใน หลอดนี้จะเป็นทางเดินของเลือดผู้ป่วย หลอดทั้งหมดจะจุ่มในน้ำยา ไดอะไลเสทซึ่งวิ่งผ่านหลอด เหล่านี้ตลอดเวลา

ผู้ป่วยจะต้องมารับการล้างไตด้วยเครื่องล้างไต ที่โรงพยาบาล โดยมาทำอาทิตย์ละประมาณ 2-3 ครั้ง และครั้งละประมาณ 5 ชั่วโมง จึงเป็นการเสียเวลาที่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ
แต่ก็มีข้อดีที่ไม่มีสายหน้าท้องติดตัวตลอด เช่นในการล้างทางหน้าท้อง ผู้ที่จะรับการล้างไตทางเลือด อาจทำเป็นชั่วคราวโดยการแทงสายที่จะสอดเข้าเส้นเลือดที่บริเวณคอ ไหล่และขาหนีบซึ่งจะใช้ได้ไม่นานอาจจะประมาณ 2 อาทิตย์ถึง 1 เดือน แต่ในการทำเป็นการถาวร ต้องมีการผ่าตัดต่อเส้นเลือดซึ่งมักจะทำที่แขนจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนเส้นเลือดที่แขน ก็จะขยายตัวเป็นเส้นใหญ่ เมื่อมีการล้างไตก็จะมาแทงเส้นเลือดที่แขน
การล้างไตทางเลือดเหมาะในผู้ที่ล้างทางหน้าท้องไม่ได้เพราะมีข้อห้ามในการล้าง ทางหน้าท้อง

การปลูกถ่ายไต หรือการเปลี่ยนไต ( Renal Transplantation)

มีหลักการคือ
เป็นวิธีการนำไตที่ดีจากผู้ให้ไตไปให้แก่ผู้ป่วยไตวาย ที่เรียกว่าเป็นผู้รับไต ผู้ให้ไตแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
ผู้ให้ไตที่เสียชีวิต ( Cadaveric donor ) คือเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายแต่ร่างกาย คือการทำงานของหัวใจ
และไตยังปกติ และอีกประเภทคือผู้ให้ไตที่ยังมีชีวิต (Living donor )ซึ่งมักเป็นญาติเช่น พี่น้องพ่อแม่ลูก ของผู้ป่วย

หลักการสำคัญที่สุดคือไตของแต่ละบุคคลจะมีเนื้อเยื่อที่ต่างกันเสมอ ไตที่ได้รับจากการปลูกถ่ายร่างกายผู้รับจะถือว่าเป็นเนื้อเยื่อที่แปลกปลอมเข้ามา ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานหลายชนิดไปกำจัดทำให้เนื้อเยื่อใหม่นั้นถูกทำลายด้วยภูมิต้านทาน เรียกว่าเกิด Rejection ปัจจุบันมีการค้นพบวิธีการตรวจเนื้อเยื่อเพื่อที่จะให้เข้ากันได้มากที่สุด ภูมิต้านทานในการทำลายไตก็จะเกิดได้น้อยลงและผู้รับไตยังต้องทานยากดภูมิต้านทาน ไม่ให้มีภูมิต้านทานไปกำจัดไตและเมื่อเกิด Rejection ซึ่งอาจจะเกิดได้เป็นครั้งคราว
ก็ต้องมียาที่ดีพอที่จะรักษา การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตจะทำหน้าที่ทดแทนไตวายได้ดีที่สุด ผู้ป่วยจะรู้สึกแข็งแรงสดชื่นเหมือนคนปกติซึ่งจะดีกว่าการล้างไต แต่ก็ต้องมีการทานยากดภูมิต้านทาน ตลอดชีวิตทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้มากกว่าและต้องมีการตรวจวัดระดับยาเป็นระยะ นอกจากนี้ยังต้องมีไตที่จะรับบริจาคจากญาติพี่น้องหรือต้องรอจากผู้ป่วยสมองตาย ไปไตที่จะนำมาจาก ผู้ป่วยสมองตายผู้ป่วยนั้นต้องไม่มีเชื้อโรคที่ร้ายแรงเช่น เอดส์ ตับอักเสบไวรัสบี เป็นมะเร็งแพร่กระจาย ไม่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและสมรรถภาพของไตต้องยังดีพอสมควร ในกรณีที่จะรับบริจาคจากญาติญาติต้องได้รับการตรวจว่าแข็งแรงและจะปลอดภัยแน่นอน แม้จะมีไตเหลือเพียงข้างเดียวและต้องได้รับการประเมินทางจิตใจด้วยว่าเต็มใจจริง และจะไม่มีอาการทางจิตใจแม้จะให้ไตไปแล้ว

ผู้รับไตต้องเป็นผู้ที่ไม่มีโรคร้ายแรงเช่น เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี ถ้ามีโรคติดเชื้อต้องรักษาให้หายก่อนทุกชนิด อายุต้องไม่มากเกินไปโดยทั่วไปไม่ควรเกิน 55-60 ปี  ที่สำคัญคือเนื้อเยี่อต้องเข้ากันได้มากที่สุด 

การรักษาภาวะไตวายไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามขึ้นกับเงื่อนไขทางการแพทย์และความพอใจ ของผู้ป่วยเป็นสำคัญที่สำคัญคือค่ารักษาจะแพงมาก ในกรณีที่มีปัญหา มูลนิธิโรคไตเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยได้โดยจะมีการล้างไตทางเลือดในราคาที่ถูก แต่ผู้ป่วยก็ยังคงต้องเสียเองบ้างส่วนหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันและรีบรักษาภาวะนี้เพื่อชลอการเป็น ไตวายระยะสุดท้ายจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

โดย  น.ท.นพ.จักรพงศ์ ไพบูลย์  อายุรแพทย์โรคไต
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
21 Sep 2000

Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved.