Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

สิทธิผู้ป่วย

แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกันประกาศสิทธิผู้ป่วย 16 เมษายน 2541

สิทธิ หมายถึง ความชอบธรรมที่บุคคล ใช้ยันกับผู้อื่นเพื่อคุ้มครอง หรือ รักษาผลประโยชน์ อันเป็นส่วนพึงได้ของบุคคลนั้น

สิทธิผู้ป่วย จึงหมายถึง ความชอบธรรมที่ผู้ป่วยจะพึงได้รับเพื่อคุ้มครองหรือ รักษาผลประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

1. ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพ ตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ

คำอธิบาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

“บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิ ได้รับการรักษาพยาบาล จากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งนี้ตาม ที่กฎหมายบัญญัติ

การบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น และ เอกชนมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่จะกระทำได้

การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายรัฐต้องจัดให้แก่ประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อ เหตุการณ์ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือก ปฏิบัติ เนื่องจาก ความแตกต่างด้าน ฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะ ของความเจ็บป่วย

คำอธิบาย ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพในมาตรฐานที่ดีที่สุดตามฐานานุรูป โดยไม่มีการเลือก ปฏิบัติทั้งนี้ มิได้หมายรวมถึง สิทธิอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น การไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาล การพักในห้องพิเศษต่าง ๆ และบริการพิเศษอื่น ๆ เป็นต้น

3. ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและชัดเจน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอม ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือ รีบด่วนหรือจำเป็น

คำอธิบาย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีหน้าที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงอาการการดำเนินโรค วิธีการรักษา ความยินยอมของผู้ป่วยนั้นจึงจะมีผลตามกฎหมายยกเว้นเป็นการช่วยเหลือใน กรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ตามข้อ 4

4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือ รีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึง ว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็น ผู้ให้บริการแก่ตน

คำอธิบาย ในสถานพยาบาลมีผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพต่าง ๆ หลายสาขาปฏิบัติงานร่วมกันในการ ช่วยเหลือผู้ป่วยร่วมกับบุคลากร ผู้ช่วยต่าง ๆ หลายอาชีพ ซึ่งบ่อยครั้งก่อให้เกิดความไม่แน่ใจและความไม่เข้าใจ แก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป การกำหนดสิทธิข้อนี้ทำให้ผู้ป่วยกล้าที่จะสอบถามข้อมูลที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและ สามารถตัดสินใจเพื่อ คุ้มครองความปลอดกัยของตนเอง โดยเฉพาะจากผู้ให้บริการซึ่งไม่มีคุณภาพเพียงพอ

6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการ

คำอธิบาย ปัจจุบันผู้ป่วยยังมีความเกรงใจและไม่ตระหนักถึงสิทธินี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและความ- ขัดแย้ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจำนวนมากก็ยังมีความรู้สึกไม่พอใจเมื่อผู้ป่วยขอ ความเห็นจาก ผู้ให้บริการสุขภาพผู้อื่น หรือไม่ให้ความร่วมมือในการที่ผู้ป่วยจะเปลี่ยนผู้ให้บริการหรือสถานบริการ การกำหนดสิทธิผู้ป่วยนี้จึงมีประโยชน์ที่จะลดความขัดแย้งและเป็นการ รับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง

7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมาย

คำอธิบาย สิทธิส่วนบุคคลที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยนี้ถือเป็นสิทธิที่ได้รับ การรับรอง ตามกฎหมายอาญามาตรา 323 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ข้อบังคับแพทยสภาพ.ศ. 2526 ซึ่งถือว่าสังคมได้ให้ความสำคัญกับสิทธิผู้ป่วยในข้อนี้มาก เพราะถือว่าเป็นรากฐานที่ผู้ป่วยให้ความไว้วางใจต่อแพทย์

8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วม หรือถอนตัว จากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

9. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตน ที่ปรากฏในเวชระเบียน เมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิด สิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

คำอธิบาย ข้อมูลที่ปรากฎในเวชระเบียนถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของประวัติมีสิทธิที่จะได้รับ ทราบข้อมูลนั้นได้ ทั้งนี้รวมถึงกรณีผู้ป่วยยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของตนต่อบุคคลที่สาม เช่นในกรณี ที่มีการประกันชีวิต หรือสุขภาพ

10. บิดา มารดา หรือ ผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทน ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก อายุยังไม่เกิน สิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถ ใช้สิทธิด้วยตนเอง

เมื่อท่านได้ทราบถึงสิทธิของผู้ป่วยหวังว่าท่านจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ให้บริการ และ ผู้รับบริการ

ขอขอบคุณ  นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
1 July 2000

Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved.