Dr. Saroj Saigal ได้ติดตามเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดจำนวน ๑๕๐ คน ที่เกิดใน Ontario ในช่วงปี ๑๙๗๗ ถึงปี ๑๙๘๒ จนกระทั่งปัจจุบัน พบว่า เด็ก ๆ เหล่านี้จะปรากฏอาการเรียนรู้ยาก ตั้งแต่เมื่ออายุ ๘ ปี สืบเนื่องไปจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โดยเด็ก ๆ ในกลุ่มนี้ เป็นเด็กที่เกิดก่อนกำหนด ๒ ถึง ๓ เดือน และเมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๑ ปอนด์ ๒ ออนซ์ และ ๒ ปอนด์ ๔ ออนซ์ ผลงานการศึกษาดังกล่าวนี้ ได้มีการตีพิมพ์ใน The Journal Pediatrics ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ และระบุด้วยว่า กว่าครึ่งหนึ่งของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ จะต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ในเรื่องของการศึกษา ในขณะที่เด็กซึ่งคลอดตามกำหนดในกลุ่มควบคุมที่นำมาเปรียบเทียบกันนั้น มีโอกาสที่จะต้องรับความช่วยเหลือทางการศึกษาเป็นพิเศษ เพียงแค่ร้อยละ ๑๐ นอกจากนี้ กลุ่มเด็กที่คลอดก่อนกำหนดประมาณร้อยละ ๒๕ ต้องเรียนซ้ำชั้น ในขณะที่เด็กปกติในกลุ่มควบคุม มีอัตราการเรียนซ้าชั้นอยู่ที่ร้อยละ ๖ การศึกษาในครั้งนี้ นักวิจัยหวังว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง แพทย์ และนักการศึกษา ตระหนักถึงความเสี่ยงของเด็กกลุ่มนี้ และให้ความช่วยเหลือดูแลแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังพบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการที่หญิงอายุมากมีลูก หรือการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า ทำให้สามารถรักษาชีวิตของเด็กทารกตัวเล็กผิดปกติเหล่านี้ได้มากขึ้นการศึกษาของนักวิจัยกลุ่มนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า ไม่ถึงครึ่งของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ด้วยน้ำหนักตัวน้อย คือน้อยกว่า ๑ ปอนด์ ๙ ออนซ์ สามารถทำแบบทดสอบ ความฉลาดได้ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ เด็กคลอดก่อนกำหนดที่ถูกติดตามผลจนกระทั่ง เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจำนวน ๔๒ คน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ที่เรียกว่า Sensory Disorder เช่น สมองพิการ การมองเห็นและการได้ยินไม่เป็นปกติ ซึ่งบางรายนั้นจัดว่าอยู่ในกลุ่มของผู้พิการ การศึกษาครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของการติดตามผลจากทารกแรกเกิดจนเติบโตเป็นวัยรุ่น และ Dr. Saroj Saigal ก็ไม่สามารถจะคาดการณ์ต่อเนื่องไปจนกระทั่งเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในวัยผู้ใหญ่ และได้แนะนำว่าน่าจะมีการศึกษากันในระดับต่อไปอีก ปัจจุบันร้อยละ ๑๑ ของทารก ๔ ล้านคนที่เกิดในสหรัฐ เป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด คือเกิดก่อนอายุครรภ์ ๓๗ สัปดาห์ และอัตราของการคลอดก่อนกำหนดนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๙ เมื่อเทียบกับเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว มีการประมาณกันด้วยว่า ร้อยละ ๑.๔ ของทารกจำนวน ๕๖,๐๐๐ คนที่เกิดมาในแต่ละปี มีน้ำหนักน้อยคือน้อยกว่า ๓ ปอนด์ ทางด้าน Dr. Maureen Hack แห่ง Cleveland Neonatologist ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนด กล่าวเสริมว่า ปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ อาจจะมีผลมาจาก bleeding in the brain การที่สมองขาดออกซิเจน และปัญหาอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด Cover Story from CNN Health Comment จากแพทย์ ช่างเป็นข่าวที่ไม่ดีจริงๆครับ ทารกคลอดก่อนกำหนดเมื่อแรกคลอดก็ต้องลุ้นกับปัญหาต่างๆมากมายแล้ว เมื่อติดตามผลการรักษาระยะยาวก็พบว่ามีปัญหาทั้งด้านกายภาพและการเรียนรู้ ทั้งยังต้องการ พี่เลี้ยงหรือผู้ให้การดุแลเป็นพิเศษด้วย ความเจริญก้าวหน้าในวิชาของหมอทารกแรกเกิด สามารถช่วยชีวิตทารกคลอดก่อนกำหนดได้เพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในประเทศไทย แต่การศึกษาติดตามผู้ป่วยในระยะยาวทำได้ยากมากในประเทศของเรา ทั้งการดูแลผู้ป่วย เหล่านี้ต่อเนื่องก็เป็นไปอย่างยากลำบาก การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้มีทารกที่ต้องคลอดก่อนกำหนด พ่อแม่จึงควรมีลูกเมื่อพร้อม การตั้งครรภ์ในเด็กวัยรุ่นเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด พ่อแม่ต้องพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐานะ เวลา ตั้งใจดูแลการท้องจริงจังด้วยการฝากท้อง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำจิตใจให้สดชื่น ออกกำลังกายพอเหมาะและต้องรักษาความสะอาด ป้องกันการติดเชื้อ ที่สำคัญได้แก่การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ที่เป็นเหตุให้มดลูก มีการหดตัวก่อนกำหนด หากมดลูกหดตัวต้องรีบปรึกษาสูติแพทย์เพื่อให้ยาป้องกัน หากไม่สำเร็จต้องให้ยาให้ปอดทารกแรกเกิดทำงานให้ได้ ต้องคลอดในโรงพยาบาล ต้องมีกุมารแพทย์พร้อมเครื่องมือรีบดูแลรักษา ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนมีปัญหาต่อเนื่องมาจนโต ดังที่เสนอในข่าวนี้ กันไว้ยังไงก็ยังดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน.....เป็นอย่างงั้นจริงๆในเรื่องทารกคลอดก่อนกำหนด โดย นพ.จักรพันธ์ สุศิวะ กุมารแพทย์ |
Created and Desiged
by หมออู๋ Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved. |