รู้จักกับ แก๊สน้ำตา
|
แก๊สน้ำตา หรือในภาษาอังกฤษ เรียกว่า tear gas (แหม แปลได้ตรงตัวมากเลยนะครับ) เป็นคำรวม ๆ ที่หมายถึง สารเคมีที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุตา จนกระทั่งมีน้ำตาไหลออกมา แต่ความจริงแล้ว สามารถระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ทั้งที่ตา ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รวมทั้งผิวหนังด้วย โดยส่วนใหญ่ การใช้แก๊สน้ำตา มีจุดประสงค์เพื่อสลายการชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเราขณะนี้ เรามาทำความรู้จักกันหน่อยนะครับ |
มีสารเคมีหลายอย่าง ที่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ก็เรียกว่าเป็น แก๊สน้ำตา ทั้งนั้น ซึ่งสารเคมีที่มีการใช้กันบ่อย ได้แก่
- 1- chloroacetophenone (CN)
- 2-chlorobenzalmalononitrile (CS)
- dibenzoxazepine (CR)
- oleoresin capsicum (OC or pepper spray)
- pelargonic acid vallinylamide (PAV)
แก๊สน้ำตามีผลระคายเคืองต่ออวัยวะต่าง ๆ คือ ตา เยื่อบุจมูกและทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องปาก และผิวหนัง โดยทำให้เกิดอาการดังนี้
- ตา : ทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น ต้องกระพริบตาตลอด รวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น (ตาบอดชั่วคราว) และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ หากถูกกระแทกโดยตรง หรืออาจมีเลือดออกในลูกตา หรือติดเชื้อที่ตาในภายหลังได้
- จมูก : ทำให้แสบจมูก และมีน้ำมูกไหล
- ปาก และทางเดินอาหาร : ทำให้แสบปาก น้ำลายไหล และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้
- ทางเดินหายใจ : ทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีหลอดลมตีบจนหายใจไม่ออก โดยเฉพาะในคนไข้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่ก่อน (จึงต้องระวังให้มากในคนกลุ่มนี้) และอาจมีปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ได้ใน 12-24 ชั่วโมง หากได้รับในปริมาณที่มาก
- ผิวหนัง : หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแสบ และบวมแดง หากสัมผัสนาน อาจเหมือนถูกไฟไหม้ นอกจากนี้อาจมีผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (contact dermatitis) ได้ ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน โดยเกิดหลังจากสัมผัสไปแล้ว 72 ชั่วโมง
- อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ : อาการปวดศีรษะ ง่วงซึม, เจ็บหน้าอก ความดันเลือดตก เป็นต้น
การออกฤทธิ์ของแก๊สน้ำตานี้ ออกฤทธิ์ในทันทีทันใดที่สัมผัส (0-30 วินาที) และจะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาทีหลังจากพ้นการสัมผัสนั้น แต่อาจมีอาการอยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป (บางทีนานถึง 3 วัน) และอาการจะรุนแรง และเป็นอันตรายมากขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมากหรืออยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ
การปฏิบัติที่สำคัญอันดับแรก คือต้องหยุดสัมผัสสารเคมีให้ได้ก่อน อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องให้การรักษาพิเศษอะไร ซึ่งในขั้นต้นได้แก่
- การหลีกเลี่ยงและออกจากสถานที่ที่มีแก๊สน้ำตานั้น ไปสู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทที่สะดวก และมีลมพัดให้สารเคมีนั้นกระจายออกไป
- ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก และใส่ไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด (2 ชั้นยิ่งดี) โดยพยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียก เพราะสารเคมีจะละลายติดตามร่างกายได้
คำแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ |
- ต้องสวมถุงมือ และใส่เสื้อคลุมป้องกัน รวมทั้งแว่นตา ระหว่างให้การช่วยเหลือผู้ป่วย
- อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก และมีลมพัด
- อาการทางตา : ส่วนใหญ่ น้ำตาที่ไหลอยู่นั้นจะช่วยขับเอาสารเคมีออกจากตาไปได้ ถ้าไม่หาย มีคำแนะนำ 2 แบบคือ อย่างแรก ให้ใช้ลมเป่าที่ตา เพื่อพัดเอาสารเคมีออกไป (ใช้พัดลมก็ได้) แต่ถ้ายังไม่หายอีก ให้ล้างตาด้วยน้ำเกลือ (normal saline) (การใช้น้ำเปล่าล้างตา ในกรณีที่หาน้ำเกลือไม่ได้ แม้ว่าอาจจะใช้ได้ในที่เกิดเหตุ ก็อาจทำให้เยื่อบุตาบวมได้) และอาจหยอดยาชาช่วยบรรเทาอาการร่วมกับปิดตาไว้ก่อน, ถ้ามีแผลที่กระจกตา (corneal abrasion) ก็ให้รักษาด้วย ยาปฏิชีวนะหยอดตา และยาแก้ปวด, อาการทางตาที่เป็นมาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์ให้ช่วยดูแลด้วย
ผู้ที่ใช้ contact lens ควรรีบถอดออก แล้วล้างทำความสะอาด (ในกรณีของ soft lens ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก)
- ผิวหนัง : ถ้ามีอาการแสบ อาจล้างด้วยน้ำ และสบู่มาก ๆ โดยเฉพาะตรงข้อพับต้องดูแลเป็นพิเศษ, ถ้าผิวหนังไหม้ ก็ให้การดูแลเหมือนแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกโดยทั่วไป ถ้ามีการแพ้ ก็ให้ยา topical steroid ได้, ถ้ามีสารเคมีติดที่ผม การสระผม อาจทำให้แสบหนังศีรษะได้
- อาการของทางเดินหายใจ : ถ้ามีอาการมาก ควรให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้การรักษาด้วยการให้ออกซิเจน หรือให้ยาขยายหลอดลม หากมีอาการของหลอดลมตีบ ถ้าเป็นมากจนมีการหายใจล้มเหลว อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- สำหรับเสื้อผ้า สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้า ด้วยผงซักฟอกธรรมดาได้ โดยใช้น้ำเย็นซัก ห้ามใช้น้ำร้อน เนื่องจากอาจทำให้สารเคมีระเหยและเป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสได้
สรุป แม้ว่าแก๊สน้ำตา จะไม่มีอันตรายมาก แต่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่เดิมได้มาก นอกจากนี้ยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้แก๊สน้ำตาเนื่องจากการมีปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด ปอดอักเสบ หรือการขาดอากาศหายใจ (โดยเฉพาะหากอยู่ในบริเวณที่ปิดมิดชิด ไม่มีอากาศถ่ายเท) หรืออาจเสียชีวิตจากการที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม, การศึกษาในหลอดทดลองก็พบว่า แก๊สน้ำตา อาจเป็นพิษต่อยีน (genotoxic) และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน (mutagenic) แม้ว่ายังไม่ทราบผลที่ชัดเจนของมันก็ตาม อย่างไรก็ตามในปี 2512 มีการลงมติจาก 80 ประเทศให้ถือว่า แก๊สน้ำตา เป็นอาวุธเคมีชนิดหนึ่ง ที่ถูกห้ามใช้ในสงคราม ตามสนธิสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) แต่ก็ยังมีการใช้ในการสลายการชุมนุมของฝูงชนในหลาย ๆ ประเทศ จึงควรให้ความสำคัญ และมีการพิจารณาการใช้อย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนจนเกินไป
โดย นพ.นพวัชร์ สมานคติวัฒน์
เอกสารอ้างอิง
1. Brief report: exposure to tear gas from a theft-deterrent device on a safe--Wisconsin, December 2003. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2004; 53:176-177.
2. Blain PG. Tear gases and irritant incapacitants. 1-chloroacetophenone, 2-chlorobenzylidene malononitrile and dibenz[b,f]-1,4-oxazepine. Toxicol Rev 2003; 22:103-110.
3. Folb PI, Talmud J. Tear gas--its toxicology and suggestions for management of its acute effects in man. S Afr Med J 1989; 76:295.
4. Fraunfelder FT. Is CS gas dangerous? Current evidence suggests not but unanswered questions remain. BMJ 2000; 320:458-459.
5. Hu H, Fine J, Epstein P, Kelsey K, Reynolds P, Walker B. Tear gas--harassing agent or toxic chemical weapon? JAMA 1989; 262:660-663.
6. Weir E. The health impact of crowd-control agents. CMAJ 2001; 164:1889-1890.
7. Worthington E, Nee PA. CS exposure--clinical effects and management. J Accid Emerg Med 1999; 16:168-170.