Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 
bone tendon ปวดเท้า กีฬา sport วิ่ง เดิน แคลเซี่ยม, calcium , medbible

 

อาการปวดส้นเท้า  

อาการปวดส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น 

เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อย ในผู้หญิงวัยกลางคน ผู้ที่อ้วน หรือ มีรูปเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน เท้าบิด ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าเป็นเพราะความเสื่อมในจุดที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกาะกับกระดูก
เส้นเอ็นฝ่าเท ้าจะเกาะอยู่ระหว่างส้นเท้ากับนิ้วเท้า เมื่อเส้นเอ็นหรือกระดูกบริเวณส้นเท้า ได้รับแรงที่มากเกินไป เช่น การยืนหรือเดินนาน ๆ น้ำหนักตัวมาก อุบัติเหตุ หรือ ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบได้

อาการปวด อาจจะปวดแบบตื้อ ๆ หรือ ปวดอย่างรุนแรงก็ได้ ถ้ากระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดที่ส้นเท้า จะปวดมากขึ้น

ลักษณะที่พบได้บ่อย คือ หลังจากนอนหรือนั่งพัก เมื่อเริ่มลงน้ำหนัก ลงเดิน ช่วงแรก ๆ จะรู้สึกปวดมาก แต่หลังจากที่เดินไปได้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจพิเศษอย่างอื่น 

ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30-70 ถ้าถ่ายภาพรังสีของเท้า จะพบว่ามีกระดูกงอกที่ไต้ฝ่าเท้าได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพบกระดูกงอก จากการถ่ายภาพรังสี แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้า จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน
ผู้ป่วยเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ โดยส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน แต่ถ้าหลังจากรักษา 6 - 9 เดือน แล้วอาการไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะต้องใช้เวลารักษาหลังผ่าตัดอีก 2 - 6 เดือน จึงจะดีขึ้น
สำหรับผู้ที่มีอาการมานานมากกว่า 1 ปี หรือ มีน้ำหนักมาก การรักษามักจะได้ผลไม่ค่อยดี ต้องใช้เวลานาน

แนวทางการรักษาด้วยตนเอง

  1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือ เดินนาน ๆ เป็นต้น และควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
  2. บริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า
  3. นวดฝ่าเท้า หรือ ใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า
  4. ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น อาจใช้แผ่นนุ่ม ๆ รองที่ส้นเท้า (หนา ½ นิ้ว) เพื่อลดอาการปวด ควรใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว หรือ ใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะ เช่น Hell cups Tuli cups เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า
  6. ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอุ่น อาจใช้น้ำแข็งทุบใส่ในถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้าขนหนู หรือ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ประคบบริเวณที่ปวดประมาณ 10 - 15 นาที หรือ ประคบด้วยความร้อน 4 นาที สลับกับความเย็น 1 นาที ก็ได้ อาจใช้ครีมนวดแก้ปวด ก็ได้แต่ต้องระวังอย่านวดแรงเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำมากขึ้นไป
  7. ถ้าปวดมาก ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซ็ตตามอล ประคบด้วยความร้อน หรือใช้ยานวด 
  8. ลดน้ำหนัก

การรักษาโดยแพทย์

  1. ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ
  2. ฉีดยาสเตียรอยด์ บริเวณส้นเท้าแต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าขาดได้
    ขณะฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้เกิดอาการปวด และชา เพราะจะต้องผสมยาชาร่วมด้วย หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ( ประมาณ 1- 2 ชั่วโมงหลังฉีด ) ก็อาจเกิดอาการปวดซ้ำอีกครั้ง จึงควรรับประทานยาไว้ก่อน หรือ ถ้ามีอาการปวด ก็ให้ประคบด้วยน้ำอุ่น
  3. ทำกายภาพบำบัด 2 - 3 ครั้งต่ออาทิตย์ อย่างน้อย 6 อาทิตย์
  4. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน
  5. การผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่หายหลังรับการรักษาอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ สาเหตุการปวดมาจากการที่มีเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ 
การบริหาร

1. เมื่อตื่นนอน ให้ นวด หรือ ประคบ ฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่อง ด้วยความร้อน เช่น แช่ในน้ำอุ่น ใช้ถุงน้ำร้อน หรือ นวดโดยใช้ครีมบรรเทาอาการปวด ก่อนที่จะเริ่มบริหาร
2. การบริหารเพื่อ ยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า โดยควรทำ อย่างน้อย 3 รอบต่อวัน

2.1 ใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าแล้วใช้มือดึงให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
2.2 ยืนห่างจากผนังสัก 3-4 ฟุต มือยันผนังแล้วเอนตัวไปให้ชิดกับผนัง ค้างไว้ นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 ครั้ง
2.3 ยืน หรือ นั่ง แล้วใช้อุ้งเท้าเหยียบ วัสดุกลม ๆ เช่น ลูกเทนนิส ลูกปิงปอง หรือ กะลา

3. การบริหารเพื่อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อข้อเท้าและกล้ามเนื้อในฝ่าเท้า

3.1 เกร็งกล้ามเนื้อ กระดกข้อเท้าขึ้นมากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 (10 วินาที) แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3.2 เกร็งกล้ามเนื้อ งอข้อเท้าลงมากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 (10 วินาที) แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3.3 ยืน แล้วเขย่ง ให้ส้นเท้าสูงพ้นพื้น ค้างไว้ นับ 1-10 ( 10 วินาที ) แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3.4 ใช้นิ้วเท้าหยิบสิ่งของจากพื้น เช่น ผ้า ดินสอ ก้อนหินเล็ก ๆ 

สรุป 

เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์ 
เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ มักรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจต้องใช้เวลานาน หลายเดือน ถ้ายิ่งเป็นมานาน ก็จะยิ่งรักษาหายช้า ซึ่งผลการรักษาจะดีหรือไม่นั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วย ถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือดี การรักษาก็จะได้ผลดีด้วยเช่นกัน

โดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
5 April 2002

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.