10th Anniversary thaiClinic.com
Medical Bible Clinic Online Health Conference Featured Content Service and Support
Contact Us

โรคเนื้อเน่า(Necrotizing fasciitis)

จากข่าวที่มีชายคนหนึ่งเกือบจะถูกตัดขาเนื่องจากถูกแมวข่วน ที่เป็นข่าวอยุ่ในตอนนี้ คงทำให้ผู้ที่เรียกตัวเองว่าทาสแมวและทาสสุนัขนั้นตื่นตัวและตื่นกลัวไปตามๆกัน ยิ่งเมื่อได้ยินว่าแท้จริงแล้วเกิดจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อ(flesh-eating disease)หรือทางการแพทย์เรียกว่า
โรคเนื้อเน่า(Necrotizing fasciitis)ยิ่งขนลุกเข้าไปใหญ่
ที่จริงโรคนี้พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมาก อันตรายถึงชีวิตหากรักษาไม่ทัน โดยพบว่า1ใน4ของคนที่เกิดโรคนี้จะเสียชีวิต


#โรคเนื้อเน่าเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ(fascia)

สาเหตุ

#สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อแอโรโมแนส (Aeromonas spp.),คลอสตริเดียม (Clostridium perfringens),แบคทีรอยดีส (Bacteroides),หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเพียง1ชนิด เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ(group A Streptococcus spp.) หรือ เชื้อสแตปไฟโลคอคคัส (Staphylococcus spp.)

ผู้ที่มีความเสี่ยง

#ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้แก่
- ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ, ใช้ยาสเตียรอยด์, ใช้ยากดภูมิค้มกัน เช่นยามีบำบัด, ผู้ที่ขาดสารอาหาร
-มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, โรคตับ, โรคไต, อ้วน
-มีแผลที่ผิวหนังหรือมีแผลผ่าตัดที่ได้รับการดูแลรักษาไม่ดีพอ
-ติดยาเสพติด, ติดสุรา

อาการของโรคเนื้อเน่า

ระยะแรกมีอาการเจ็บ ปวด บวม แดงที่ผิวหนัง เป็นลักษณะที่เราเรียกว่า ไฟลามทุ่ง ต่อมาอาการบวมแดงจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ซึ่งการที่มีตุ่มน้ำร่วมด้วยแปลว่าการติดเชื้อลามลงไปถึงชั้นพังผืดแล้ว ต่อมาผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น ตอนนี้ผู้ป่วยจะมีอาการชามาแทนท่ีอาการเจ็บปวด ร่วมกับมีไข้สูง และมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด หลังจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการช็อค และการทำงานของอวัยวะต่างๆแย่ลง จนเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

บางครั้งเฉพาะที่ตามองเห็นจากภายนอก ไม่สามารถวินิจฉัยโรคเนื้อเน่าได้ แต่ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักมีประวัติ ได้รับบาดเจ็บมีแผล บวม แดง ร้อน มีถุงน้ำ การวินิจฉัยโรคเนื้อเน่าที่สำคัญคือ การผ่าตัดและพบว่ามีการติดเชื้อ หรือมีการตายของเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีการตัดชิ้นเนื้อส่งเพาะเชื้อแบคทีเรียเพื่อหาเชื้อก่อโรค แต่การผ่าตัดจะทำเมื่อพบหลักฐานใดหลักฐานหนึ่ง ที่บ่งชี้ต่อโรคเนื้อเน่า อันได้แก่
-ดูดได้หนองในเนื้อเยื่อตำแหน่งที่ปวด
-คลำได้ฟองอากาศใต้ผิวหนัง หรือภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา เห็นลักษณะของฟองอากาศใต้ผิวหนังบริเวณที่ปวด
-มีอาการปวดเฉพาะที่รุนแรงร่วมกับมีอาการไข้ และผลเลือดสนับสนุนว่ามีการติดเชื้อที่ร้ายแรง
-ภาพเอ็กซเรย์MRI พบหนองและมีการทำลายของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

การรักษา


#การรักษา คือ การผ่าตัดเอาเนื้อตายออกให้หมด ( Debridement) ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะในรูปยาฉีด ( IV Antibiotic)ซึ่งการรักษาตั้งแต่ระยะต้นของโรคสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ส่วนหลังจากหายแล้ว เรื่องการซ่อมแซมผิวหนัง ทำแผล ปลูกหนัง ค่อยว่ากันอีกทีครับ

การป้องกัน

-การดูแลแผลอย่างถูกต้องเป็นวิธีการป้องกันโรคเนื้อเน่าได้ดีที่สุด ดังนั้นเมื่อเกิดแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เพราะจะเพิ่มให้มีการติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากเครื่องมือไม่สะอาด อันนี้ เจอบ่อยมากในคนไข้ของเรา ที่ชอบรักษาเองครับ ไม่ควรทำนะครับ
-หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก
-ถ้ามีแผลแล้วมีอาการปวดบวมแดงร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
-ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเนื้อเน่า เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคเบาหวาน, อ้วนเป็นต้น ควรระวังการเกิดบาดแผล และถ้าเกิดบาดแผลต้องดูแลรักษาให้ถูกวิธีและเฝ้าระวังอาการของโรคนี้ ถ้ามีความผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

ด้วยความปรารถนาดี

นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์



Copyright © 1998-2017.
Thaiclinic.com. All Right Reserved

Thailand WEB Awards'1999
Healthnet Web Award '2000
Truehits.net web award'2003
สำหรับผู้ชมทุกวัย