Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่
check up annual ตรวจสุขภาพ  เลือด lab ตรวจภายใน มดลูก , medbible check ีup

 

การตรวจสุขภาพเป็นประจำ  ควรตรวจไม่ควรตรวจ

จากการจัดสัมมนาเรื่อง การตรวจสุขภาพประจำปี เรื่องดีหรือเรื่องร้าย เมื่อมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทำให้เกิดความสงสัยกันว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ที่มีการส่งเสริมกันมาตลอด โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลมีการออกเป็น package ต่างๆ เพื่อให้ตรวจ ควรตรวจหรือไม่? ถ้าไม่ตรวจถ้าปล่อยไปเรื่อยๆจนโรคที่แอบแฝงลุกลามจนแก้ไม่ได้ จะทำอย่างไร?

ปัญหาการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน

  ความจริงแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ (Periodic Health examination) เป็นเหมือนขั้นตอนการตรวจสอบว่า ปัจจุบันสุขภาพของเรายังดีหรือไม่ มีโรคอะไรที่แอบแฝงที่ต้องรีบกำจัดเพื่อไม่ให้ลุกลามหรือไม่  ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำ

แต่ในปัจจุบัน ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ความเร่งรีบในชีวิต ทำให้การตรวจสุขภาพไปมุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ ฯลฯ ตัดสินสุขภาพดีหรือไม่ดี โดยดูแต่ค่าตัวเลขหรือผลการตรวจเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วสุภาพที่ดีหรือไม่ ไม่ได้ดูกันแค่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหล่านี้เท่านั้น ทำให้คนที่ค่าปกติหลงคิดว่าตนนั้นแข็งแรง เกิดความประมาทในการใช้ชีวิต เช่น ยังคงดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทานอาหารที่เป็นโทษต่อสุข ซึ่งนำไปสู่โรคในที่สุด  และในมุมกลับกัน ถ้าตรวจพบค่าผิดปกติ ทั้งที่บางครั้งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ก็จะสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ได้รับการตรวจ ผู้ที่ไม่เป็นโรคจึงกลายเป็นผู้เป็นโรค

แล้วการตรวจสุขภาพแบบใดจึงจะดีและถูกต้อง

การตรวจสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้รับการตรวจ ไม่ใช่มุ่งแต่หาโรค (ไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก)  การตรวจที่ดีจะต้องมีการชี้แนะให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ต้องไม่สร้างความทุกข์ทางใจ และต้องไม่ทำให้ผู้รับการตรวจมีความประมาทเมื่อตรวจไม่พบโรค

  การตรวจสุขภาพตามหลักสากลจะประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

  1. การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

  2. การให้คำแนะนำ

  3. การให้วัคซีนป้องกันโรค

  4. การให้สารหรือยาเพื่อป้องกันโรค

การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

การคัดกรอง (Screening) แต่เดิมนั้นมีความเชื่อว่าทำเพื่อค้นหาโรค แต่ความจริงแล้วการคัดกรองที่ดี คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดโรค  ถ้าจะเปรียบปัญหาสุขภาพเหมือนก้อนน้ำแข็งกลางทะเล (Iceberg)   โรคที่ตรวจพบเปรียบเหมือนน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเปรียบได้เหมือนกับน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำคอยบั่นทอนสุขภาพ และเมื่อวันใดโผล่พ้นน้ำ ก็จะกลายเป็นโรค ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะแก้ไข หรือกำจัดก็อาจจะสายเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค มีหลายอย่าง เช่น การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่มีไขมันสูง ก็ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เกิดปัญหาโรคหัวใจ, การดื่มเหล้า เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้องรัง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ,  การไม่ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนเกิดปัญหา โรคเบาหวาน ไขมันสูง เกาท์ ปวดข้อ เป็นต้น  ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่สามารถค้นหาได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจLAB) แต่ค้นหาได้โดยการซักประวัติเป็นหลัก ซึ่งการคัดกรองจะต้องพึ่งการซักประวัติมากถึง 80% ส่วนที่เหลือคือการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติเฉพาะที่จำเป็นตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้จากประวัติ ซึ่งในบางครั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้

การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงิน และคุ้มค่า ควรทำโดยการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่การซักประวัติทั่วไป เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ การทำงาน  อาชีพ การซักประวัติโรคประจำตัว โรคของคนในครอบครัว  การรับประทานอาหาร การใช้สารเสพติด การออกกำลังกาย   เมื่อได้ข้อมูลแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย

หลังจากทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินผลการตรวจสุขภาพ โดยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่พบ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต

ขั้นตอนการคัดกรองสุขภาพ

การคัดกรองที่แนะนำสำหรับคนทั่วไปแยกตามอายุได้ดังนี้
 
อายุ 18 - 34 ปี

อายุ 35 - 59 ปี

อายุมากกว่า 60 ปี

วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP Smear  (หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว)

 

วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจไขมันในเลือด (ชายอายุ 35 ปี หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)

ตรวจน้ำตาลในเลือด (อายุ 40 ปีขึ้นไป)

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP smear (หญิง)

ตรวจมะเร็งเต้านม (หญิง) โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม 

 

วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจการได้ยินโดยการซักประวัติ

ตรวจการมองเห็นโดย Snellen test

ตรวจไขมันในเลือด 

ตรวจน้ำตาลในเลือด

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP smear (หญิงน้อยกว่า 65 ปี)

ตรวจมะเร็งเต้านม (หญิงน้อยกว่า 70 ปี) โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม 

ตรวจมะเร็งลำไส้โดย ตรวจเลือดในอุจจาระ

 
การค้นหาปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการเกิดโรค
โรคที่พบ ประวัติที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การตรวจที่แนะนำ
โลหิตจางจากธาตุเหล็ก คนยากจน คนที่มีภาวะทุพโภชนาการ คนที่มีพยาธิปากขอ หรือตรวจพบว่าซีด Hematocrit / Hemoglobin 
โลหิตจางธาลัสซีเมีย คนที่เป็น หรือมีญาติสายตรงเป็นธาลัสซีเมีย และ ต้องการวางแผนก่อนแต่งงาน Hemoglobin typing
ไขมันในเลือดสูง คนที่อ้วน ความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่จัด มีญาติสายครงที่มีโรคไขมันสูง Cholesterol, Triglyceride, HDL-C
เบาหวาน คนที่อ้วน ประวัติญาติสายตรงเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง Fasting blood sugar
ธัยรอยด์บกพร่อง ผ่าตัดธัยรอยด์ เคยทานไอโอดีนกัมมันตรังสี TSH, T4 
ซิฟิลิส, หนองใน  ผู้ขายบริการทางเพศ คนที่มีคู่นอนหลายคน VDRL หรือ RPR, Gram stain for GC
เอดส์ ผู้ขายบริการทางเพศ คนที่มีคู่นอนหลายคน ติดยาเสพติด ชายรักร่วมเพศ Anti HIV
วัณโรค 
ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคเกินกว่า 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ป่วยเอดส์ Tuberculin test
พยาธิ อาศัยในแหล่งที่มีพยาธิระบาด ได้แก่ ภาคอีสาน ภาคใต้ ชอบกินของสุกๆ ดิบๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นพยาธิ หรือเป็นมะเร็งท่อน้ำดี Stool for parasite
มะเร็งลำไส้ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก บุคคลที่มีติ่งเนื้อในลำไส้ Stool occult blood / colonoscope

การให้คำแนะนำ

                เมื่อทำการคัดกรองเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการให้คำแนะนำในการป้องกัน โดยส่วนใหญ่พบว่าคำแนะนำมักจะเป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การแนะนำให้งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และในบางครั้งอาจมีคำแนะนำเรื่องการใช้เข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ หรือใส่หมวกกันน๊อคเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของศีรษะขณะขับขี่รถจักรยานยนตร์  เป็นต้น คำแนะนำอื่นๆ เช่น การแนะนำให้สตรีรู้จักกการตรวจคลำหาก้อนที่เต้านมทุกสัปดาห์เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม การสอนให้สังเกตุอาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ฯลฯ การให้คำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับการตรวจสุขภาพควรได้รับ

การให้วัคซีนที่จำเป็น

                การให้วัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ การให้วัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรค และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะให้ในวัยเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่นั้น มีวัคซีนที่แนะนำว่าควรได้รับคือ

วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ (Td = Tetanus-Diptheria ) ควรได้รับการฉีดเริ่มต้น 3 เข็ม และรับการกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 10 ปี

วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน (Rubellar vaccine) สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ (ให้ก่อนตั้งครรภ์)

วัคซีนอื่นๆ ควรได้รับตามความเสี่ยง เช่น

วัคซีนตับอักเสบบี ควรได้รับในผู้ที่มีคู่สมรสเป็นพาหะตับอักเสบบี และได้รับการตรวจแล้วว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน,

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้กับผู้ที่จะไปยังแหล่งที่มีโรคระบาด เช่น ไปแสวงบุญเมกกะ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับในผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ, ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในเมืองหนาว ที่มีการระบาดของโรครุนแรง เป็นต้น

การให้สารเคมีหรือยาเพื่อป้องกัน

อาจให้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การให้ฟลูโอไรด์ในเด็ก, การให้โฟลิก ในผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย, การให้ฮอ์โมนในกลุ่มหญิงวัยทอง, การให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอาย ุเป็นต้น

การตรวจสุขภาพเป็นประจำ จำเป็นต้องตรวจทุกปีหรือไม่

                การตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้น ควรได้รับการตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี การใช้คำว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าต้องมาตรวจทุกปี เราพบว่าในคนที่อายุน้อย สุขภาพแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกปี อาจตรวจเพียงปีเว้นปีก็เพียงพอแล้ว

สรุป

  กล่าวโดยสรุปแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะช่วยตรวจสอบค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้วัคซีน ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันโรค  การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์ คุ้มค่า จะต้องเป็นการตรวจที่มีจุดประสงค์มุ่งป้องกัน มากกว่ามุ่งการรักษา  เลือกการตรวจเฉพาะที่มีประโยชน์ ไม่ใช่การตรวจแบบเหวี่ยงแหเหมือนในอดีตอีกต่อไป

โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว


Reference

1.The American Academy of Family Physicians, Summary of Policy Recommendations for Periodic Health Examinations, November 1996; Revision 5.0, August 2001. Http:// www.aafp.org

2. สุรจิต สุนทรธรรม บรรณาธิการ, การตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนไทย ISBN : 970-7634-03-1

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
21 ่Jan 2002

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.