คำถามส่วนใหญ่ที่ถามมาผมไม่สามารถหาหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันได้ชัดเจน จึงขออาศัยหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายครับ ดังนั้นบางคำตอบอาจจะไม่ได้ถูกต้องจริงๆก็ได้ เพราะเป็นความคิดเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว
1. ถ้าจะเดินผ่านฝนที่ตกปรอย ๆ หรือน้อยมาก ๆ ต้องเอาอะไรมาคลุมไม่ให้ฝนโดนเส้นผม ไม่งั้นจะเป็นหวัด และเสี่ยงที่จะเป็นหวัดได้ง่ายกว่าฝนตกแรงๆ .... จริงหรือไม่
ตอบ จริงครับ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการทำให้เส้นผมเปียก แต่เพราะว่าฝนที่ตกปรอยๆมีขนาดของเม็ดฝนเล็ก สามารถเข้าสู่โพรงจมูกได้ง่าย ทำให้เชื้อโรคที่มากับเม็ดฝนเล็ดลอดเข้าไปในช่องจมูกได้สะดวกขึ้น
2. การโดนละอองฝน แค่ชื้น ๆ ไม่แฉะ จะทำให้เป็นหวัด...จริงหรือไม่
ตอบ เป็นความจริงครับ ด้วยเหตุผลตามข้อหนึ่ง
3. คนที่ผ่าทอนซิลออกแล้วหลายปี มีอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย อย่างนี้เป็นอาการเริ่มต้นก่อนเป็นหวัด....จริงหรือไม่
ตอบ การผ่าทอนซิลไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เจ็บคอ เพราะการที่เป็นหวัดนั้นทำให้ผนังเยื่อบุบริเวณคอหอยอักเสบได้อยู่ดี ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าการที่มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นอีกคืออาการของการที่เริ่มเป็นหวัด ก็ถูกต้องแล้วครับ
4. ถ้าโดนแดดแรง ๆ ตอนกลางวันแล้ว จะทำให้ตอนกลางคืนเป็นหวัด
ตอบ ไม่จริงเสมอไปครับ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันคำกล่าวนั้นครับ แต่แสงUltravioletที่เป็นส่วนประกอบในแสงแดดสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ครับ
5. ถ้าเป็นหวัดแล้ว พยายามอย่าให้น้ำโดนหัว ไม่งั้นหวัดไม่หาย (สรุปง่าย ๆ ว่าห้ามสระผม)...จริงหรือไม่
ตอบ ไม่ทราบครับ ไม่เคยพบเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในวารสารทางการแพทย์และวารสารอีเลคโทรนิคครับ
6. ถ้าไอเจ็บคอ ต้องเอาผ้ามาพันคอ จะช่วยให้อาการดีขึ้น...จริงหรือไม่
ตอบ การที่ไอเกิดเนื่องจากมีการระคายคอ หรือไม่ก็เกิดจากการที่มีเสมหะออกมาแล้วกระตุ้นให้มีการไอเกิดขึ้น
การที่จะไอได้ดีนั้นต้องประกอบไปด้วยเสมหะที่ไม่เหนียวข้นเกินไป
7. ในระหว่างที่เป็นหวัด และมีอาการไอ การกินของทอด ทำให้ไอมากขึ้น ....จริงหรือไม่
ตอบ ใช่ครับ เนื่องจากของทอดจะระคายเคืองเยื่อบุบริเวณคอหอยได้อย่างง่ายดายทำให้กระตุ้นให้เกิดการไอ
8. ระหว่างเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง...จริงหรือไม่
ตอบ เรื่องน้ำเย็นยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าจะมีผลทำให้อาการแย่ลงหรือไม่ ไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัด เพราะที่จริงความเย็นที่เกิดจากการดื่มน้ำเย็นหรือรับประทานน้ำแข็งจะอยู่เพียงแค่ระยะสั้นๆ หลังจากกลืนลงไปไม่นานอุณหภูมิของเยื่อบุบริเวณช่องปากก็จะกลับมาสู่ปกติ ซึ่งไม่น่าจะมีผลอะไรต่อไข้หวัดครับ
โดย นพ.ปิยะ
สมานคติวัฒน์ ศัลยแพทย์