กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ
กระดูก
ปวด ชา มือ wrist carpal tunnel nerve
เส้นประสาท
กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ |
|
กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยที่พบประมาณ 54 ปี และใน ผู้หญิงจะพบมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
ภายในบริเวณข้อมือจะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ โดยมี แผ่นเอ็นขวาง และ กระดูกข้อมือ เป็นผนังของอุโมงค์ ภายในอุโมงค์ประกอบด้วย เส้นเอ็นนิ้วมือ และ เส้นประสาท เมื่อมีการเพิ่มความกดดันภายในอุโมงค์นี้ เส้นประสาทก็จะถูกกด ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงต่าง ๆ ตามมา
|
1. การใช้งานของมือ และ ตำแหน่งของข้อมือ
ส่วนใหญ่เกิดจาก การใช้มือท่าเดียวนาน ๆ เช่น การกำมือ การบีบ การกด เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่กระดกขึ้นหรืองอลงมาก ๆ เช่น การพิมพ์ดีด ใช้มือเย็บผ้า เล่นเครื่องดนตรี การใส่เฝือกที่ข้อมือ ถือหนังสือ ถือพวงมาลัยรถยนต์ การจับแฮนของรถจักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น
2. ภาวะผิดปกติหรือโรคที่เป็นอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง รูมาตอยด์ เกาต์ กระดูกข้อมือหักหรือกระดูกข้อมือที่ติดผิดรูป เส้นเอ็นอักเสบ การติดเชื้อ
3. สภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เช่น อ้วน ตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตรหรือ ได้รับยาคุมกำเนิด
อาการ และ อาการแสดง ที่สำคัญดังนี้
- อาการชา โดยเฉพาะที่นิ้วชี้และนิ้วกลาง
- รู้สึกเสียวคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต หรือรู้สึกร้อน ไปที่ปลายนิ้ว
- ปวด บริเวณนิ้วมือ มือ และข้อมือ อาจจะปวดขึ้นไปจนถึงไหล่
- รู้สึกว่ามือไม่ค่อยมีแรง กำมือได้ไม่แน่น ทำของตกบ่อย ๆ ใช้มือทำงานไม่ถนัด
- ถ้าเป็นมานาน อาจจะพบว่ามีกล้ามเนื้อฝ่ามือลีบเล็กลง ฝ่ามือแบนราบลงกว่าปกติ
กลุ่มอาการเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นเพียง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดหลายอย่างร่วมกัน และอาจจะเกิดที่มือข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ
อาการมักเกิดขึ้นบ่อยในตอนกลางคืน ทำให้ผู้ป่วยต้องตื่นกลางดึก (เวลาประมาณตีหนึ่งถึงตีสี่) และ เมื่อสะบัดมือ กำมือ ขยับนิ้วมือ สักพักอาการก็จะดีขึ้นนอนหลับต่อได้ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การถือหนังสือ การเขียนหนังสือ การขับรถ หรือการทำงานบ้าน
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะรู้สึกดีขึ้น เมื่อห้อยแขนลงสะบัดข้อมือ ขยับนิ้วมือ กำนิ้วสลับเหยียดนิ้วสักพัก หรือจัดข้อมือให้กลับมาอยู่ในท่าปกติ แต่อีกสักพักก็จะเริ่มมีอาการอีก เป็น ๆ หาย ๆ
แนวทางเลือกในการรักษา
1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งประกอบด้วย
- กินยาแก้ปวด ลดการอักเสบ
- กินวิตามิน บี-6
- ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการออกแรงของมือในท่าเดียวนาน ๆ และ ลดท่าทางที่ทำให้ข้อมือกระดกขึ้น หรือ งอลง มากเกินไปเป็นเวลานาน
- ฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าไปในบริเวณข้อมือ เพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็น และเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้ ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นชั่วคราว แต่ส่วนใหญ่จะกลับมามีอาการเหมือนเดิมอีกในระหว่าง 2 - 4 เดือนหลังการฉีดครั้งแรก การฉีดยาซ้ำจะได้ผลการรักษาที่ด้อยกว่าครั้งแรกมาก จึงไม่ควรฉีดซ้ำบ่อย ๆ แพทย์มักจะฉีดแค่ 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 - 3 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรรักษาด้วยการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า
- ใส่เฝือกชั่วคราว ตั้งแต่ฝ่ามือถึงข้อศอก โดยจัดท่าให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง ๆ ให้ใส่เฝือกไว้ในช่วงที่มีอาการ เช่น ในขณะทำงาน หรือในตอนกลางคืน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการมือบวมมาก ให้ใส่เฝือกชั่วคราวร่วมกับการยกแขนให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยถ้ายืน เดินก็ให้ใช้ผ้าห้อยคอ ถ้านอนให้วางแขนบนหมอน หรือวางแขนบนหน้าอก
2.การบริหาร
สำหรับผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ข้อมือมาก ๆ ก็ควรใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที บริหารข้อมือก่อนเริ่มการทำงาน ( ทำประมาณ 10 รอบ ) ส่วนผู้ที่มีอาการแล้วก็ควรทำการบริหารให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การบริหารประกอบด้วยท่าบริหารต่อไปนี้
1. ยกแขนสูงขึ้นจนเสมอไหล่ เหยียดแขนตรงไปด้านหน้า กระดกข้อมือและนิ้วมือขึ้นจนข้อมือตั้งฉาก ค้างไว้ 5 วินาที (นับ หนึ่ง ถึง ห้า )
2. ข้อมือและนิ้วเหยียดตรง ปล่อยตามสบาย ไม่ต้องเกร็งค้างไว้ 5 วินาที (นับ หนึ่ง ถึง ห้า )
3. กำมือแน่น แล้วงอข้อมือลงให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที (นับ หนึ่ง ถึง ห้า )
4. ข้อมือและนิ้วเหยียดตรง ปล่อยตามสบาย ไม่ต้องเกร็งค้างไว้ 5 วินาที (นับ หนึ่ง ถึง ห้า )
ในผู้ที่มีอาการมาก ควรหยุดพักการใช้ข้อมือโดยแพทย์อาจใส่เฝือกชั่วคราว โดยจะต้องใส่เฝือกตลอดเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์ ยกเว้นในช่วงการบริหารก็จะถอดเฝือกออก และเมื่อบริหารเสร็จแล้วก็ให้ใส่เฝือกต่อ
3.การรักษาโดยการผ่าตัด
แพทย์จะผ่าตัดที่บริเวณฝ่ามือ โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ แผลจะยาวประมาณ 10 ซ.ม. ตั้งแต่ฝ่ามือจนถึงข้อมือ เพื่อตัดแผ่นเอ็นขวางซึ่งเป็นผนังของอุโมงค์ข้อมือ หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้เลยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดต้องใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อมือกระดกขึ้นเล็กน้อย และเพื่อให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 2 อาทิตย์
ประมาณ 2 อาทิตย์หลังผ่าตัด แพทย์จะนัดมาตรวจซ้ำ ตัดไหมที่แผล และเอาเฝือกออก
โดยส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการไม่นาน ก็จะหายเร็ว แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นมานาน โดยเฉพาะถ้านานกว่า 2 ปี และมีอาการมาก เช่น มีกล้ามเนื้อฝ่ามือลีบ ก็จะหายช้า ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือนหลังผ่าตัด
โดย นพ.พนมกร
ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ