ความรู้ เรื่อง ตัดมดลูก
ความรู้เรื่องตัดมดลูก
การตัดมดลูกนับว่าเป็นการผ่าตัดที่มากที่สุดในทางนรีเวชวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณกันว่ามีการ
ผ่าตัดมดลูกออก ปีละมากกว่า 650,000 ราย และ 80% ของผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 20 ถึง 49 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่
มีความรู้เกี่ยวกับการตัดมดลูกน้อย จึงมักทำให้เกิดความกลัวและกังวลใจ มีคำถามอยู่ในใจมากมายทั้งที่กล้าถาม
และไม่กล้าถาม เช่น ฉันจะรู้สึกอย่างไรเมื่อฟื้นจากสลบ จะมีผลตามมาอย่างไรบ้าง มีผลระยะยาวอย่างไร จะทำให้แก่ลงเร็วใช่หรือไม่ จะทำให้ชีวิตเกี่ยวกับทางเพศเปลี่ยนไปหรือไม่ เป็นต้น
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดมดลูกและผลที่ตามหลังการตัดมดลูก
มดลูก
คืออวัยวะสำหรับทำหน้าที่ในการตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า ตัวมดลูก(CORPUS) เป็นส่วนที่ห่อหุ้มตัวอ่อนเวลาตั้งครรภ์มีเยื่อบุมดลูกอยู่ภายใน
สำหรับให้ตัวอ่อนฝังตัวและเกาะอยู่และ กล้ามเนื้อมดลูกอยู่ภายนอก
ส่วนล่างลงมาคือ ปากมดลูก มีหน้าที่เป็นประตูของมดลูก
ส่วนที่สามคือ ท่อมดลูกมี 2 ข้าง ทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงไข่และตัวอ่อนเข้ามาในโพรงมดลูก
อวัยวะอื่นที่ไม่ใช่มดลูกแต่ติดอยู่กับมดลูกคือรังไข่มี 2 ข้าง ซ้าย - ขวา ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือผลิตไข่สำหรับ
ผสมพันธุ์และผลิตฮอร์โมนเพศสตรี เพื่อให้ร่างกายและจิตใจคงความเป็นสตรีที่สมบูรณ์
ความหมายของคำว่า ตัดมดลูก
คำว่า ตัดมดลูกโดยทั่ว ๆ ไป หมายถึง การตัดเอามดลูกและปากมดลูกออก
แต่ในทางการแพทย์อาจแบ่งออก
เป็นสามอย่าง
คือ
1.
การตัดมดลูกและปากมดลูกออก (Total Hysterectomy)
เหลือรังไข่ไว้ 1 ข้างหรือทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้คงการ
ทำงานที่สร้างฮอร์โมนของรังไข่ไว้
2.
ตัดเฉพาะส่วนของมดลูกเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy)
จะทำในกรณีที่การตัดปากมดลูก
เอาออกยากแพทย์บางคนเชื่อว่าการคงปากมดลูกไว้ จะช่วยป้องกันการหย่อนของช่องคลอดที่เหลืออยู่ บางคนเชื่อว่า
อาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศของสตรี มีการศึกษาพบว่า การตัดแบบเหลือปากมดลูกไว้ ทำได้ง่ายกว่าตัดมดลูก
ทั้งหมดออก, ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และการเจ็บปวดของคนไข้น้อยกว่าด้วย ในกรณีนี้ ปากมดลูกที่เหลืออยู่มี โอกาสเกิดมะเร็งได้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้รับการผ่าตัดมดลูก จึงต้องมีการตรวจมะเร็งปากมดลูกเหมือนปกติ
3.
การตัดมดลูกเหมือนแบบที่ 1 หรือ แบบที่ 2 แต่เอารังไข่ออกไปด้วยทั้ง 2 ข้าง
ความแตกต่างของแบบนี้
จาก 2 แบบแรก คือจะไม่มีรังไข่สำหรับผลิตฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะที่สำคัญคือ เอสโตรเจน (Estrogen) อยู่อีกต่อไปมักจะทำในกรณีที่อายุมากแล้ว รังไข่หมดหน้าที่แล้ว หรือรังไข่มีพยาธิสภาพ หรือมีเนื้องอกมะเร็งที่อื่น ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะไปทำให้มันลุกลามมากขึ้น
แบบนี้จะทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เหมือนกับคนที่
หมดระดูแล้ว ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงการให้ฮอร์โมนทดแทนต่อไป เช่นเดียวกับคนหมดระดู
วิธีการผ่าตัดมดลูก มี 3 วิธี คือ
1.
การผ่าตัดทางหน้าท้อง
เป็นวิธีผ่าตัดที่
ทำกันเป็นส่วนใหญ
่เพราะทำได้ง่าย คือ การทำแผลที่หน้าท้องยาว
6 - 8 นิ้ว เอามดลูกออกทางหน้าท้อง
2.
การผ่าตัดทางช่องคลอด
คือ การเอาก้อนมดลูกผ่านทางช่องคลอด วิธีนี้ไม่มีแผลทางหน้าท้อง แต่ทำ
ยากกว่าวิธีแรก แพทย์มักเลือดทำกรณีที่มีมดลูกหย่อน มดลูกไม่ได้มากและไม่มีพังผืด
ข้อดีของวิธีน
ี้
คือ เจ็บน้อย กว่าและภาวะแทรกซ้อนน้อยว่า และระยะฟื้นตัวสั้นกว่าวิธีแรก
3.
การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง
คือการเจาะช่องท้องเป็นรูเล็ก ๆ 3 - 4 รู แล้วใช้เครื่องมือพิเศษเข้าไป
ตัดมดลูก แล้วเอามดลูกออกทางช่องคลอด หรือย่อยเอาออกทางรูเล็ก ๆ วิธีนี้ทำได้แม้มดลูกไม่หย่อน
ข้อดี
คือ มีแผลเล็กกว่า, เจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่าวิธีแรก และทำได้ในกรณีที่วิธีที่ 2 ทำไม่ได้
ข้อเสีย
คือ ต้องใช้ เครื่องมือพิเศษ ค่าใช้จ่ายยังแพงกว่า
สาเหตุที่ต้องตัดมดลูก
โรคที่ต้องตัดมดลูกมากที่สุด คือ เนื้องอกมดลูก
รองลงมาตามลำดับคือ โรคเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่
(endometriosis), มดลูกหย่อนเยื่อบุมดลูกหนาตัว และที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งมดลูกและปากมดลูกนอกนั้นเป็น สาเหตุอื่น ๆ
เช่น เนื้องอกรังไข่ที่เวลาที่ผ่าตัดก็ตัดมดลูกออกไปด้วย เป็นต้น
จะมีผลอย่างไรหลังการผ่าตัดมดลูก
อาการหลังการผ่าตัดมดลูก คืออาการเจ็บแผล อ่อนเพลียคลื่นไส้อาเจียนท้องอืดในระยะแรกแล้วค่อย ๆ ดีขึ้น
อยู่ในโรงพยาบาล 3 - 7 วัน และแผลทุกอย่างจะหายสนิทประมาณ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
หลังผ่าตัด จะไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถมีลูกได้
ถ้าไม่ตัดรังไข่ออกไปด้วย รังไข่ยังมีการสร้าง
ฮอร์โมน และตกไข่ได้เป็นรอบ ๆ เช่นเดิมอาจยังมีอาการคัดตึงหน้าอก, บวมคล้ายตอนยังไม่มีประจำเดือนเหมือนเดิม
ความรู้สึกทางเพศโดยทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลง
หลายคนอาจจะรู้สึกดีขึ้นเพราะได้เอามดลูกที่มีโรคออกไป หมดปัญหาเรื่องอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธุ์, ปัญหาเลือดออกมาก ไม่ต้องกลัวเรื่องการมีบุตรอีก ไม่ต้องมีประจำเดือนอีก ฯลฯ
การเริ่มมีเพศสัมพันธ์ หลังผ่าตัดมดลูกควรเริ่มหลังจากแผลหายแล้วคือ หลังจาก 6 สัปดาห์เป็นต้นไป
และควรเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะระยะแรก ๆ อาจยังมีอาการตึงเจ็บได้บ้างใช้เวลาอีก 1 - 2 เดือน จึงจะเป็นปกติดี โ่ดยทั่วไปพบว่าสตรีหลังผ่าตัดมดลูกส่วนใหญ่ มีความพอใจกับความรู้สึกทางเพศมากขึ้นกว่าเดิม
ผลทางด้านจิตใจ
สตรีส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าจะถูกตัดมดลูกจะมีความกังวล กลัวว่าจะสูญเสียความเป็นผู้หญิง เนื่องจากไม่มี
มดลูกจะไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถมีลูกได้อีกแม้จะเคยมีลูกแล้วหรือมีลูกพอแล้วก็ตาม ความรู้สึกนั้นจะรุนแรง สำหรับคนที่ไม่เคยมีลูก บางคนกลัวว่าเมื่อไม่มีมดลูกจะทำให้แก่ลงจะทำให้ความรู้สึกทางเพศของสามีเสียไปเมื่อมีเพศสัมพันธ์ บางรายคิดมากจนเกิดอาการซึมเศร้า ดังนั้นผู้ป่วยที่แพทย์บอกว่าจะตัดมดลูกไม่ควรเก็บความไม่สบายใจไว้
ควรถามแพทย์ทุกอย่างที่ตนกลัวและกังวลใจ เพื่อความเข้าใจที่ดี
ถ้าตัดมดลูกและตัดรังไข่ออกด้วยจะเป็นอย่างไร?
มีบางกรณีที่แพทย์ตัดรังไข่ออกไปพร้อมกับมดลูก กล่าวคือ
1. รังไข่มีพยาธิสภาพผิดปกติ เช่น เนื้องอกของรังไข่ หรือเมื่อรังไข่หยุดทำงานแล้ว
2. ฮอร์โมนของรังไข่จะทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นหรือเกิดขึ้นมาอีก เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็ง
ของมดลูก
3. เมื่ออายุมาก ใกล้หมดประจำเดือนแล้ว (ข้อนี้ความนิยมตัดรังไข่เริ่มน้อยลงเพราะถ้ายังมีประจำเดือนอยู่
เราบอกไม่ได้ว่าสตรีคนใดจะหมดประจำเดือนเมื่อไร)
ตามที่กล่าวในตอนต้นว่าส่วนใหญ่ที่ถูกตัดมดลูกมักอยู่ในช่วง 20 ถึง 49 ปี ซึ่งยังเป็นวัยมีประจำเดือน รังไข่
ยังสร้างฮอร์โมน และ sexual active การตัดรังไข่ออกไปจึงทำให้ฮอร์โมนของรังไข่หายไปด้วย ทำให้เกิด
ภาวะหมดระดู (MENOPAUSE)
เกิดขึ้นและอาการของการหมดระดูจะเกิดขึ้นรุนแรงกว่าการหมดระดูตามธรรมชาติ
เพราะตามธรรมชาติจะขาดฮอร์โมนแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หมดทันทีทันใด ทำให้ร่างกายพอปรับตัวได้บ้าง
อาการหมดระดูคือ ร้อนวูบวาบเนื้อตัว, นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวนเหนื่อยอ่อนและอาการซึมเศร้า
ผลระยะยาว คือ การดูกกร่อน ช่องคลอดแห้งบาง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธุ์ ความสนใจทางเพศลดลง กระเพาะปัสสาวะแห้ง
อักเสบง่าย และอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีมากขึ้น
จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรเมื่อรังไข่ถูกตัดไปด้วย
อาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่
การป้องกันคือการได้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ทดแทนซึ่งมีทั้งชนิด รับประทาน, ทา และใส่ช่องคลอด การออกกำลังกายและการรับประทานแคลเซียมเสริม
ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันกระดูกกร่อน ส่วนการได้รับยาเมื่อไร อย่างไร นานเท่าไร ควรจะปรึกษากับแพทย์ที่ดูแล หลักการคือให้เร็วที่สุดขนาดยาที่พอเหมาะและให้นานที่สุด ถ้าหยุดยาเมื่อไร ผลจากการขาดฮอร์โมนก็จะเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยคิดจะหยุดยาควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลก่อน
This Web Page Design & Created by
Dr.OU
1 July 1998
Copyright (c) 1998.
ThaiClinic.com
. All rights reserved.