Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo

MainpageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

บทที่ 1 ทำไมต้องเรียนต่อต่างประเทศ

ทำไมต้องเรียนต่อต่างประเทศ

สำหรับนักศึกษาแพทย์ รวมถึงแพทย์จบใหม่ ผมเชื่อว่ามีไม่น้อยที่ตั้งใจอยากจะเรียนต่อ โดยเฉพาะการเรียน ต่อเฉพาะทาง มีคำถามรวมถึงข้อสงสัยมากมายเข้ามาถามเกี่ยวกับการเลือกเรียน ต่อสาขาอะไรดี มีที่ไหนบ้างที่เขาเปิดรับ จะสมัครเรียนที่นี่ดีไหม ทำอย่างไรถึงจะสมัครได้ ฯลฯ แต่มีไม่น้อยเช่นกัน ที่สงสัยเกี่ยวกับการเรียนต่อในต่างประเทศ

แล้วเราจะเรียนต่อต่างประเทศไปทำไม ในเมื่อเมืองไทยก็มีการฝึกอบรมเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เกือบครบทุกสาขาเท่าที่ต่างประเทศเขามี ? นี่เป็นคำถามที่ดีครับ ซึ่งผมเห็นว่านักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ทุกคน ควรจะต้องตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ก่อนจะตัดสินใจเลือกจะไปเรียนต่อ ในต่างประเทศว่า ทำไมเราถึงต้องไปเรียน เช่น ไม่มีสาขาวิชานี้ฝึกอบรมในประเทศไทย, อนาคตทำงานในโรงเรียนแพทย์, ต้องการประสบการณ์การเรียนและใช้ชีวิตในต่างประเทศ เป็นต้น

รู้หรือไม่ เรียนต่อต่างประเทศ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

การฝึกอบรมเฉพาะทางในเมืองไทยนั้น มีขั้นตอนตรงไปตรงมา ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สถานที่ฝึกอบรมมักเป็น คณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาของรัฐทุกแห่ง รวมถึง โรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกลาโหมขนาดใหญ่ การสมัครสามารถทำได้โดยการติดต่อ กับภาควิชาในสถาบันที่เราสนใจจะฝึกอบรม และสมัครเป็นทางการผ่านแพทยสภาแต่ละสถาบัน อาจแนววิธีคัดเลือกต่างกันไป เช่น การสัมภาษณ์, ผลการเรียน, ประสบการณ์การปฏิบัติงาน, ต้นสังกัด เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ที่สนใจฝึกอบรมในสาขาต่าง ๆ มักไม่มีปัญหาในการหาสถานที่ฝึกอบรม จะเว้นก็ในสาขาที่มีการฝึกอบรมน้อยและได้รับความนิยมมาก เช่น ตจวิทยา (ผิวหนัง), จักษุ หรือ โสต-นาสิก-ลาริงซ์วิทยา อาจมีผู้เข้าสมัครมากกว่าตำแหน่งที่รับได้

แต่การเลือกฝึกอบรมในต่างประเทศนั้นไม่ง่ายเลย ผู้สมัครต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ในการเลือกจะฝึกอบรมต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องสอบเพื่อประกาศนียบัตรจาก ECFMG, การสมัคร, การสัมภาษณ์ ฯลฯ ล้วนแต่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอ่านหนังสือ และฝึกซ้อมทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเสียค่าใช้จ่ายสูง เช่นค่าสมัครสอบต่าง ๆ, การสมัครหาที่เรียน, ค่าไปรษณีย์ทั้งจดหมาย ต่างประเทศชนิดธรรมดาและ EMS, ค่าธรรมเนียมการขอใบรับรอง และ transcript, รวมทั้ง การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสอบและสัมภาษณ์ด้วย อีกทั้งโอกาสในการจะได้เข้ารับ การฝึกอบรมยังไม่มากนัก จากการประมาณมีคนไทยสามารถเข้าฝึกอบรมในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ไม่เกิน 5 คนต่อปี เมื่อเทียบกับตำแหน่งของการฝึกอบรมทุกสาขาในเมืองไทยหลายร้อยตำแหน่ง

แล้วเป็นไปไม่ได้เลยหรือ

แม้การเลือกฝึกอบรมต่อในต่างประเทศจะเป็นเรื่องยาก แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีตำแหน่งฝึกอบรมเฉพาะทางกว่า 2 หมื่นตำแหน่งทุกปี และในจำนวนเหล่านี้มีผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมเป็นชาวต่างประเทศได้รับตำแหน่งประมาณ 15% หมายความว่ามีชาวต่างประเทศกว่า 3 พันคนได้ฝึกอบรมในสหรัฐอเมริกา และบางสาขาเช่น Internal medicine อาจมีชาวต่างประเทศฝึกอบรมอยู่ถึง 25% นอกจากนี้ในบางสาขายังมีตำแหน่งเหลือ ที่มีคนสมัครไม่เต็มอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายว่า ในบรรดาชาวต่างประเทศที่ได้เข้าฝึกอบรมในสหรัฐอเมริกานั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียกว่า 50% ที่เหลือเป็นชาวฟิลิปปินส์, จีน และอเมริกาใต้ เกือบทั้งหมด มีคนไทยอยู่น้อยมาก นี่เป็นการจุดประกายให้เกิด Section นี้ โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะใช้แนะแนวทางการเตรียมตัว, การสอบ, การสมัคร รวมทั้งการสัมภาษณ์ สำหรับนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ที่ตั้งใจจะฝึกอบรมในต่างประเทศ และเพื่อนำความรู้กลับมา ทำประโยชน์กับเมืองไทย อีกทั้งจะได้เป็นการปูทางให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ไทยรุ่นถัด ๆ ไป ได้มีโอกาสไปฝึกอบรมในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

โดย นพ.มานพ พิทักษ์ภากร อายุรแพทย์

MainpageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
1 April 2000

Copyright (c) 1998-1999, ThaiClinic.com. All Right Reserved.

Back to Top