สาเหตุ
ปัจจุบันนี้
ยังไม่สามารถจะบอกได้แน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดความผิดปกติ
ในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือหลายๆสาเหตุร่วมกัน ดังนี้
1. ปัจจัยด้านพัฒนาการ
ซึ่งในเด็กแต่ละคน อาจจะมีพัฒนาการของการควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้เร็วหรือช้าแตกต่างกันไป
2. ปัจจัยทางพันธุกรรม
พบว่าประมาณ70% ของเด็กที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะรดที่นอน
จะมีญาติคนใด
คนหนึ่งในครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องนี้ด้วย
3. ฮอร์โมน
มีรายงานการศึกษาพบว่า ในเด็กที่มีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะรดที่นอนนั้น จะมีระดับของ
antidiuretic hormone ในช่วงกลางคืนต่ำกว่าเด็กทั่วๆไป
4. กระเพาะปัสสาวะ
ซึ่งอาจมีความจุของการเพาะปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือมีความไวต่อการกระตุ้นมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการบีบขับปัสสาวะออกมาได้ง่าย
5.ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม
พบว่าเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กหรือเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น จะมีปัญหานี้มากกว่าเด็กปกติทั่วๆไป
แนวทางการรักษาและแก้ไข
การรักษาที่จะได้ผลดีนั้น
ต้องอาศัยความเข้าใจและร่วมมือกันทั้ง พ่อแม่และเด็ก โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของพัฒนาการในการขับถ่ายปัสสาวะ และสาเหตุที่จะทำให้เด็กถ่ายปัสสาวะรดที่นอน เพื่อจะได้ไม่ดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเด็กนั้น ก็ควรจะต้องมีความพร้อมและแรงจูงใจพอสมควร ในการฝึกการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ
วิธีการฝึกอาจทำได้ดังนี้
-
หัดให้เด็กถ่ายปัสสาวะก่อนเข้านอน
-
พยายามอย่าให้เด็กดื่มน้ำมากเกินไปในช่วงเวลาใกล้จะเข้านอน
-
ถ้าเด็กปัสสาวะรดที่นอน ให้ปลุกเด็กขึ้นมาเปลี่ยนเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนด้วยตัวของเด็กเอง
-
ควรให้กำลังใจเด็ก โดยอาจจะทำเครื่องหมายบนปฏิทินว่าวันไหนที่เด็กไม่ถ่ายปัสสาวะรดที่นอน เพื่อสร้างกำลังใจให้เด็ก และไม่ควรดุว่าหรือลงโทษเด็กถ้าเด็กยังถ่ายปัสสาวะรดที่นอน
นอกจากวิธีฝึกดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันนี้ ยังได้มีอุปกรณ์ ช่วยแก้ไข
โดยเป็นเครื่องมือช่วยปลุกเด็ก ซึ่งอุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณเตือนดังขึ้น เมื่อเด็กมีการถ่ายปัสสาวะออกมา ทำให้เด็กตื่น วิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กด้วย คือเมื่อเด็กตื่นแล้ว ก็ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะต่อในห้องน้ำ
วิธีนี้พบว่าได้ผลค่อนข้างดีมาก แต่เมื่อหยุดใช้แล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้
สำหรับยานั้น มียาที่ช่วยรักษาการถ่ายปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก ที่นิยมใช้ก็คือยา imipramine แต่การใช้ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีกเมื่อหยุดยา
โดย นพ.ยุทธสิทธิ์
ธนพงศ์พิพัฒน์