ThaiClinic.Com (http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl)
For MD. >> Doctor Room l ห้องพักแพทย์ >> ฟาร์มิ่ง เปิดรับผู้ป่วยเด็กคนแรกเข้าร่วมการทดลองยาเลนิโอลิซิบ
(Message started by: IQ on 02/27/23 เวลา 13:35:46)

Title: ฟาร์มิ่ง เปิดรับผู้ป่วยเด็กคนแรกเข้าร่วมการทดลองยาเลนิโอลิซิบ
ส่งโดย IQ on 02/27/23 เวลา 13:35:46
ภายใต้การทดลองระยะที่ 3 ซึ่งดำเนินการในหลายประเทศ เพื่อประเมินการใช้ยาเม็ดเลนิโอลิซิบในเด็กอายุ 4-11 ปีที่ป่วยด้วยโรค APDS ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิชนิดหายาก

ฟาร์มิ่ง กรุ๊ป เอ็น.วี. (Pharming Group N.V.) (EURONEXT Amsterdam: PHARM) (Nasdaq: PHAR) ประกาศรับผู้ป่วยเด็กรายแรกเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 (NCT05438407) เพื่อประเมินยาเลนิโอลิซิบ (leniolisib) ซึ่งเป็นเป็นยายับยั้งฟอสโฟอิโนซิไทด์ 3-ไคเนส เดลตา (Phosphoinositide 3-kinase Delta หรือ PI3K?) แบบรับประทาน สำหรับใช้รักษาเด็กที่เป็นโรค APDS หรือ แอคติเวเตด ฟอสโฟอิโนซิไทด์ 3-ไคเนส เดลตา ซินโดรม (Activated Phosphoinositide 3-kinase Delta Syndrome) ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรค APDS ซึ่งเป็นโรคลุกลามและซับซ้อนที่เกิดจากการแปรผันทางพันธุกรรม

การทดลองทางคลินิกแบบ single arm และ open label จะดำเนินการในสถานที่ทดลองในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อประเมินความปลอดภัย ความทนทาน และประสิทธิภาพของยาเลนิโอลิซิบในเด็กประมาณ 15 คน อายุระหว่าง 4-11 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค APDS โดยผลลัพธ์หลักของการศึกษาคือขนาดต่อมน้ำเหลืองลดลงและสัดส่วนของ na?ve B cell เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ B cell ทั้งหมด ณ เวลา 12 สัปดาห์ ส่วนผลลัพธ์รองประกอบด้วยการประเมินความสามารถของยาเลนิโอลิซิบในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตในส่วนของสุขภาพ โดยพิจารณาจากการวัดผลทางกายภาพ สังคม อารมณ์ และการเรียน โดยใช้แบบสอบถามผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

นอกจากนี้ ฟาร์มิ่งยังวางแผนว่าจะเริ่มการทดลองทางคลินิกลักษณะคล้ายกันในไตรมาส 3 ปี 2566 ในเด็กอายุ 1-6 ปีที่ป่วยด้วยโรค APDS เพื่อประเมินยาเลนิโอลิซิบสูตรใหม่สำหรับเด็ก ผู้ป่วยเด็กที่มีคุณสมบัติเข้ารับการทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้รับยาเลนิโอลิซิบต่อไปเป็นเวลาหนึ่งปีหลังการรักษา 12 สัปดาห์แรก ผ่านการศึกษาต่อเนื่องแบบ open label

ดร.นพ. มานิช บุตต์ (Manish Butte) ศาสตราจารย์เกียรติคุณผู้ได้รับเงินจากกองทุน อี. ริชาร์ด สตีม, ศาสตราจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และหัวหน้าแผนกวิทยาภูมิคุ้มกัน วิทยาภูมิแพ้ และวิทยารูมาติก มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ กล่าวว่า

"มาตรฐานการรักษาโรค APDS ในปัจจุบันคือการรักษาแบบประคับประคอง แม้ว่าวิธีการเหล่านี้สามารถรักษาอาการบางอย่างของโรค APDS ได้ แต่ก็ไม่ได้จัดการกับสาเหตุของโรค การศึกษายาเลนิโอลิซิบในเด็กที่เป็นโรค APDS จึงมีความสำคัญต่อการประเมินความเป็นไปได้ในการลดอาการตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค"

โครงการพัฒนายาเลนิโอลิซิบเพื่อรักษาเด็กที่ป่วยด้วยโรค APDS ได้รับการสนับสนุนโดยข้อมูลเชิงบวกจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2/3 ในผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยข้อมูลที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 และลงรายละเอียดในวารสารบลัด (Blood) [1] ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ระหว่างประเทศของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Society of Hematology) ระบุว่า การทดลองดังกล่าวบรรลุผลลัพธ์หลักร่วมทั้งสองข้อ โดยผู้ป่วยที่รับประทานยาเลนิโอลิซิบมีขนาดต่อมน้ำเหลืองลดลงและสัดส่วนของ na?ve B cell ในเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) และสำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (MHRA) ได้ให้ความคิดเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับแผนพัฒนายารักษาโรคทางกุมารเวชศาสตร์ เพื่อใช้ยาเลนิโอลิซิบรักษาโรค APDS ในเด็ก โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมการทดลองทางคลินิกในเด็กทั้งสองการทดลอง

นพ. อนุรัก เรลาน (Anurag Relan) สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ของฟาร์มิ่ง กล่าวว่า

"ผมยินดีที่เราได้เริ่มการทดลองครั้งแรกในเด็กภายใต้การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินการใช้ยาเลนิโอลิซิบในเด็กที่เป็นโรค APDS และผมตั้งตารอการทดลองในเด็กครั้งที่สองที่กำลังเตรียมการอยู่ เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์เชิงบวกในการทดลองระยะที่ 2 /3 ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ป่วยด้วยโรค APDS เราจึงมุ่งมั่นที่จะนำยาเลนิโอลิซิบไปใช้กับผู้ป่วยอายุน้อยลง โดยมีเป้าหมายเพื่อแทรกแซงก่อนที่จะเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลุกลามไปตลอดชีวิต ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับผู้ป่วยทุกวัยที่เป็นโรค APDS เราทุ่มเทในการร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ เพื่อยื่นขอรับรองยาสำหรับรักษาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ป่วยด้วยโรคนี้"

อ้างอิงจากผลการทดลองระยะที่ 2/3 และข้อมูลการทดลองทางคลินิกแบบเปิดระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) กำลังดำเนินการประเมินยากรณีเร่งด่วน (Priority Review) สำหรับยาเลนิโอลิซิบ ซึ่งมีการยื่นขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ (NDA) เพื่อใช้รักษาผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรค APDS และได้กำหนดวันตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ (PDUFA) ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการผลิตภัณฑ์การแพทย์สำหรับการใช้ในมนุษย์ (CHMP) ขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ก็กำลังตรวจสอบคำขออนุญาตจัดจำหน่ายยาเลนิโอลิซิบสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มเดียวกัน โดยฟาร์มิ่งคาดว่าทางคณะกรรมาธิการฯ จะออกความเห็นเกี่ยวกับคำขออนุญาตจัดจำหน่ายยาเลนิโอลิซิบในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

เกี่ยวกับแอคติเวเตด ฟอสโฟอิโนซิไทด์ 3-ไคเนส เดลตา ซินโดรม (APDS)

APDS เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิที่พบได้ยาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนประมาณหนึ่งถึงสองคนต่อล้านคน โดยเกิดจากตัวแปรในยีน PIK3CD หรือไม่ก็ยีน PIK3R1 ที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว ตัวแปรของยีนเหล่านี้ทำให้เกิดการทำงานมากกว่าปกติของวิถี PI3K? (ฟอสโฟอิโนซิไทด์ 3-ไคเนส เดลตา)[2],[3] การส่งสัญญาณที่สมดุลในวิถี PI3K? จำเป็นสำหรับการทำงานของภูมิคุ้มกันทางสรีรวิทยา เมื่อวิถีนี้ทำงานมากกว่าปกติ เซลล์ภูมิคุ้มกันจะไม่เติบโตเต็มที่และทำงานไม่ถูกต้อง นำไปสู่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและภูมิคุ้มกันผิดปกติ[2],[4] โรค APDS มีลักษณะเฉพาะคือการติดเชื้อรุนแรงบริเวณทางเดินหายใจและไซนัส และติดเชื้อซ้ำได้ ไปจนถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และโรคลำไส้[5],[6] เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจมีเงื่อนไขที่หลากหลายประกอบกัน รวมถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิอื่น ๆ ผู้ที่เป็นโรค APDS จึงมักได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดและได้รับการวินิจฉัยล่าช้าเฉลี่ยถึง 7 ปี[7] เนื่องจาก APDS เป็นโรคที่ลุกลามมาก ความล่าช้านี้อาจทำให้เกิดความเสียหายสะสมเมื่อเวลาผ่านไป รวมทั้งความเสียหายที่ปอดอย่างถาวรและเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง[5]-[8] วิธีเดียวที่จะวินิจฉัยภาวะนี้ได้อย่างชัดเจนคือผ่านการทดสอบทางพันธุกรรม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipr.net/health/3305058 (https://www.thaipr.net/health/3305058)



ThaiClinic.Com . All Rights Reserved.