Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

ต้อกระจก

        ต้อกระจก เป็นปัญหาทางสายตาที่มีผลต่อประชาคมโลกมานานครับ WHO ประเมินว่าทั่วโลก หกพันล้าน มีคนตาบอดประมาณ 35-40 ล้าน ซึ่งเป็นผลงานของต้อกระจกและโรคแทรกของมันถึง 45% โดยเฉพาะในแถบประเทศที่ไม่ร่ำรวยนักซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดจัด (คุ้นๆเหมือนประเทศไทยไหมครับ)

ต้อกระจก คือการมัวของตาซึ่งเกิดจากความขุ่นในเนื้อเลนส์ในดวงตา ซึ่งมีหลายสาเหตุให้เกิด เช่น จากอายุที่มากขึ้น, โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา, อุบัติเหตุ, การอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ, การรับรังสี, โรคที่เกิดจากการขาดอาหาร, โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง, โรคทาง metabolic อีกเยอะ

         นอกจากนี้ หากเกิดร่วมกับบางโรคอาจทำให้เลนส์ขุ่นขึ้นได้เร็วกว่าปกติ เช่น เบาหวาน เป็นต้น

อาการโดยทั่วไปของผู้เป็นต้อกระจก คือ

  • ตามัวลง โดยมากจะค่อยๆมัวลงช้าๆทีละน้อย นอกจากกรณีอุบัติเหตุ หรือโรคอื่นๆบางชนิด อาจมัวได้อย่างรวดเร็ว
  • การลดลงของ contrast sensitivity (การแยกความแตกต่างของความมืด-สว่าง) เมื่ออยู่ในที่แสงจ้า หรือการมองดวงไฟในเวลากลางคืน
  • myopic shift คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็น ‘สายตาสั้น’ มากขึ้น คือการมองไกลจะ ไม่ค่อยชัด และการมองระยะใกล้จะชัดเจนกว่า พบในต้อกระจกบางชนิด
  • monocular diplopia คือ เห็นภาพซ้อนเหมือนมีวัตถุปกติใดใดมากกว่าหนึ่งอัน ทั้งที่มองด้วยตาข้างเดียว
  • ปวดตา และมีต้อหินแทรก อันนี้อันตรายครับ เพราะจะมัวไปเรื่อยๆ และแก้ไขให้มองเห็นใหม่ ได้ยาก หรือบางครั้ง ไม่ได้เลย

การรักษา

  1. การรักษาด้วยยา : ตอนนี้มียาหยอดที่ใช้หลายยี่ห้อครับ โดยมากจะเคลมว่า สามารถทำให้เลนส์ ที่ขุ่นใสขึ้นได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้การขุ่นที่ค่อยๆมากขึ้นนั้น ขุ่นช้าลงกว่าเดิมครับ เท่าที่ลองๆ ใช้กันดู ปรากฏว่ายาบางตัวก็ได้ผลจริงอย่างที่เค้าโฆษณา คือ ในผู้ป่วยบางคนมองเห็นได้ชัด ขึ้นจริง  อ่านตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กลงได้มากกว่าก่อนใช้ยา แต่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ถ้าเป็นมาก เลนส์ขุ่นมากแล้ว มักใช้ในกรณีที่เริ่มเป็นน้อยๆมากกว่า โดยมักจะต้องหยอดยากัน วันละสามสี่ครั้งเป็นเวลาหลายๆเดือน ผู้ใช้ยาบางท่านเข้าใจผิดว่า หยอดแค่สองสามอาทิตย์แล้ว จะเห็นชัดดีเลย เหมือนกับการกินยา แก้หวัด หรือโรคปวดหัว ตัวร้อนทั่วไป ซึ่งก็คงต้องอธิบายกัน ตรงนี้ว่า ยานี้เห็นผลช้ามากครับ และในบางคน ถึงหยอดไปก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นชัดขึ้นเลย
     
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
    1. Couching
      เป็นวิธีโบราณที่ไม่มีใครทำกันแล้ว (อินเดียทำกันมาหลายร้อยปี) จะใช้วิธีเอาเข็มจิ้ม เข้าไปในตาผ่านบริเวณตาขาวเพื่อเขี่ยให้เลนส์ที่ขุ่นหลุดร่วงจาก ตำแหน่งเดิมลงไปใน ช่องลูกตาด้านหลัง ซึ่งคนไข้จะเห็นชัดขึ้นไม่มากนัก และต้องใช้แว่นที่มีเลนส์อันเท่า ขนมครก เพื่อรวมแสงให้ได้โฟกัสแทนเลนส์ที่หลุดออกไป วิธีนี้มีโรคแทรกซ้อนได้เยอะแยะ ปัจจุบันวิธีนี้ยังพบได้ตามบ้านนอกบ้างเหมือนกัน (โดยแพทย์ไม่มีปริญญาใดใด – เท่าที่ผมเจอ บางรายคิดค่าทำแพงกว่าแพทย์แผน ปัจจุบันในโรงพยาบาลรัฐซะอีก แต่สุดท้าย ก็ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อแก้โรคแทรกซ้อน กันจนได้ครับ)
       
    2. Intracapsular cataract extraction with/without intraocular lens implantation
      อันนี้นิยมกันในแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อกว่าสิบปีก่อน คือการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา และดึงเอาเลนส์ออกมาทั้งอัน แล้วค่อยใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทน หรือไม่ใส่ก็ได้ แล้วเย็บปิดแผล ซึ่งจะลดโรคแทรกซ้อนอันเกิดจากเลนส์ที่คงค้างอยู่ในกรรมวิธี couching ไปได้ แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงเยอะอยู่ ปัจจุบันแทบไม่มีใครทำ ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายเช่น ผู้ป่วยที่เยื่อยึดเลนส์หย่อน หรือฉีกขาด หรือผู้ได้รับอุบัติเหตุกระทบกระแทกที่ตาอย่างรุนแรงเท่านั้น ดังภาพด้านล่าง
เย็บ Hang เยื่อบุตา
1.เย็บ Hang เยื่อบุตา
กรีดกระจกตา
2.กรีดกระจกตา
เปิดกระจกตา
3.เปิดกระจกตา
ตัดม่านตาเป็นช่องเพื่อป้องกันต้อหินแทรก
4.ตัดม่านตาเป็นช่องเพื่อป้องกันต้อหินแทรก
เอาLensออกมา
5.เอาLensออกมา
ใส่ Lens ใหม่เข้าไป
6.ใส่ Lens ใหม่เข้าไป

ภาพแสดง Intracapsular cataract extraction with intraocular lens implantation

    1. Extracapsular cataract extraction with/without intraocular lens implantation
      นิยมกันในปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เจาะถุงหุ้มเลนส์เอาเลนส์ที่ขุ่นออกทั้งอัน โดยเหลือถุงหุ้มเลนส์เอาไว้ และใส่เลนส์เทียมเข้าไปในถุงหุ้มเลนส์นั้น แล้วจึงเย็บปิดแผล ซึ่งจะปลอดภัยในระหว่างการผ่าตัดมากกว่า และมีโรคแทรกซ้อนในภายหลังน้อยกว่ามาก ปัจจุบันนิยมทำวิธีนี้ ในรายที่เลนส์แข็งๆขุ่นๆครับ แต่แนวโน้มก็ลดลงเรื่อยๆแล้ว
การตัดเปิดตาขาวเพื่อเข้าสู่ช่องลูกตา
1.การตัดเปิดตาขาวเพื่อเข้าสู่ช่องลูกตา
เริ่มการเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
2.เริ่มการเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
เจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้าครบวง
3.เจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้าครบวง
คลอดเอาตัวเลนส์ที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก
4.คลอดเอาตัวเลนส์ที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก
คลอดเอาตัวเลนส์ที่ขุ่น เป็นต้อกระจกออก
5.คลอดเอาตัวเลนส์ที่ขุ่น เป็นต้อกระจกออก
เนื้อเลนส์ที่ขุ่นเป็นต้อกระจก เมื่อเอาออกมาจากลูกตาแล้ว
6.แสดงเนื้อเลนส์ที่ขุ่นเป็นต้อกระจก เมื่อเอาออกมาจากลูกตาแล้ว (ปกติถ้าไม่เป็นต้อกระจก เลนส์จะมีลักษณะใส ไม่มีสี)
การดูดเอาเนื้อเลนส์ที่ตกค้างออก
7.แสดงการดูดเอาเนื้อเลนส์ที่ตกค้างออก
ขั้นตอนการใส่เลนส์เทียม
8.ขั้นตอนการใส่เลนส์เทียม
เลนส์เทียมเข้าอยู่ในตำแหน่งเดิม
9.เลนส์เทียมเข้าอยู่ในตำแหน่งเดิม ของเลนส์ธรรมชาติเรียบร้อย
ภาพหลังเย็บแผลปิดสมบูรณ์
10.แสดงภาพหลังเย็บแผลปิดสมบูรณ์
ท่านสามารถ Click ที่รูป เพื่อดูรูปใหญ่ครับ

 ภาพแสดง Extracapsular cataract extraction with intraocular lens implantation

 

    1. Phacoemulsification and aspiration with/without intraocular lens implantation
      วิธีนี้กำลังนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดด้วยแผลขนาดเล็กกว่าวิธีที่ 2.2, 2.3 แผลที่ผ่าตัดเข้าในตาอาจมีขนาดไม่ถึงครึ่งเซ็นต์ และจะเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า แล้วใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นตัวสลายเนื้อเลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยดูดออกมาในภายหลัง (วิธีอื่นๆ เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์ออกมาเป็นชิ้นใหญ่ ชิ้นเดียว ขนาดของแผลจึงกว้างกว่าวิธีนี้มาก) จากนั้นจึงใส่เลนส์เทียม และอาจจะ เย็บปิดแผลหรือไม่เย็บก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล วิธีนี้ปลอดภัยมากขึ้นไปอีก และกำลังนิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆครับ ปัจจุบันทำกันอย่างแพร่หลายตามโรงพยาบาลศูนย์ และโรคพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือ (โรงพยาบาลขนาดเล็ก รวมถึงโรงพยาบาล ประจำจังหวัดหลายๆแห่งยังไม่มีเครื่องมือนี้ใช้ แต่ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่นกรุงเทพ คงมีเป็นสิบๆ)
แสดงการเปิดแผลที่ลูกตา
1.แสดงการเปิดแผลที่ลูกตา
การเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
2.การเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
การเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
3.การเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
การเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า
4,
เริ่มใช้อัลตราซาาวนด์ป่นเนื้อเลนส์และดูดออก
เริ่มการใช้อัลตราซาวนด์ป่นเนื้อเลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กๆ และดูดออก
5.การใช้อัลตราซาวนด์ป่นเนื้อเลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กๆ และดูดออก
ดูดเอาเศษเลนส์ที่คงค้างออก
6.ดูดเอาเศษเลนส์ที่คงค้างออก
แสดงการใส่เลนส์เทียม
7.แสดงการใส่เลนส์เทียม
แสดงการใส่เลนส์เทียม
8.แสดงการใส่เลนส์เทียม
เลนส์เทียมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเย็บแผลปิด
9.เลนส์เทียมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเย็บแผลปิด (ถ้าแผลเล็กมากๆอาจไม่จำเป็นต้องเย็บปิดเลยก็ได้)
ท่านสามารถ Click ที่รูป เพื่อดูรูปใหญ่ครับ

 

 ภาพแสดง
Phacoemulsification and aspiration
 with intraocular lens implantation

  1. วิธีอื่นๆ

- อาจช่วยการมองเห็นด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้แว่นสายตา เพื่อแก้ไขภาวะสายตาสั้น /ยาว/เอียง โดยไม่แก้ไขที่เรื่องต้อกระจกโดยตรง เพราะการมองไม่ชัดของคนเราแต่ละคน อาจมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีต้อกระจกร่วมกับสายตาสั้น เป็นต้น ถ้ายังไม่ต้องการผ่า หรือผ่าไม่ได้ด้วยสาเหตุหรือภาวะใดใด แต่ต้องการมองเห็นชัดขึ้น ก็อาจใช้แว่นแก้ในส่วนของสายตาสั้นไปก่อน แล้วเรื่องต้อกระจกค่อยว่ากันวันหลัง ซึ่งในระยะยาว เมื่อต้อกระจกขุ่นมัวมากขึ้น ก็ต้องมารักษากันที่โรคต้อกระจกอยู่ดี

เลนส์เทียม (ภาพ IOL) : เป็นอุปกรณ์สังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อทำงานแทนเลนส์ธรรมชาติในดวงตาของเราที่ขุ่นมัวและต้องถูกเอาออกไป โดยจะทำหน้าที่รวมแสงให้ได้โฟกัสภาพสู่จอประสาทตาปัจจุบัน มีเลนส์หลายสิบ ชนิดวางขายในท้องตลาด แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งการเลือกใช้ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย และการพิจารณาของแพทย์ที่วางแผนการรักษาให้ครับ

เลนส์เทียม

แนวโน้มในอนาคต

  • กำลังหวังกันว่าจะมียาหยอด หรือยากินที่ทำให้เลนส์ที่ขุ่น ใสขึ้นมาได้เองในคนไข้ทุกคน โดยไม่ต้องผ่าตัดครับ แต่คงอีกไกล(มากๆ)

มีการใช้วิธีอื่นๆ โดยมากอยู่ในระหว่างการศึกษา เช่น การใช้เลเซอร์เป็นตัวสลายเนื้อเลนส์ที่ขุ่น เป็นต้อกระจก แล้วค่อยดูดเอาเนื้อเลนส์ที่ถูกสลายแล้วออกมาอีกที

โดย  นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย  จักษุแพทย์

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
16 March
2000

Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved.