Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease )

เมื่อพูดถึงโรคสมองเสื่อม คนส่วนมากจะนึกโรคอัลไซเมอร์ก่อนอย่างอื่น ซึ่งความจริง สมองเสื่อมไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมอง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่อัลไซเมอร์ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้น

ภาวะสมองเสื่อม (dementia) นั้น ต่างจากความจำเสื่อม (forgetfullness) โดย มักมีอาการ อื่นนอกจากความจำเสื่อมร่วมด้วย และมักมีผลต่อชีวิตประจำวัน อาการอื่นๆเช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ ไม่สามารถทำอะไรที่ง่ายๆที่เคยทำประจำเช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ค่อยได้ พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น

สาเหตุของสมองเสื่อมแบ่งเป็นสองแบบ คือ แบบรักษาให้หายได้กับแบบรักษาไม่ได้ คนที่สงสัยว่าจะมีอาการสมองเสื่อม ควรพบแพทย์ทางระบบประสาท เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่ สามารถรักษาได้ โรคในกลุ่มนี้เช่น โรคซึมเศร้า เนื้องอกในสมอง โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น สำหรับสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาไม่หายนั้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดก็คือโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง นอกนั้นก็เป็นโรคทางสมองอื่นๆที่พบได้รองลงไป เช่น เส้นเลือดสมองตีบ(บางราย) เป็นต้น

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ โดยในกลุ่มคนที่อายุ 65 ปี พบได้ประมาณ 10% ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งพบได้บ่อยขึ้น โดยเมื่อดูผู้ที่อายุเกิน 85ปี จะพบได้ถึงเกือบ 50% อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่พบตั้งแต่อายุ 40-50ปี แต่ก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีประวัติโรคนี้ ในครอบครัวค่อนข้างชัดเจน หรือผู้ที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)

สาเหตุ ของโรคอัลไซเมอร์นั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจมีส่วนจากกรรมพันธุ์ โดยที่อาจมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม การติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้

การตรวจชิ้นเนื้อของสมองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลังเสียชีวิต พบว่ามีโปรตีนบางชนิดในปริมาณ ที่มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์

อาการของอัลไซเมอร์นั้น ในระยะแรกๆอาจแยกจากภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุได้ลำบาก แต่ไม่นานก็มัก จะมีลักษณะบางอย่างที่เด่นชัดขึ้นมาซึ่งต่างจากการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ ในผู้สูงอายุ อาการแรก และมักเป็นอาการที่ญาติจะสังเกตได้ค่อนข้างเร็วและมักพามาพบแพทย์คือ ความจำที่แย่ลง ซึ่งจริงๆแล้ว  ในผู้สูงอายุก็จะมีอาการนี้เกิดขึ้นได้บ่อย โดยมักเป็นความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ที่ผ่านมาไม่นาน เช่น ลืมว่าต้มน้ำทิ้งไว้ พอนึกออกก็ตกใจวิ่งไปถอดปลั๊กไฟ แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจเป็นมากกว่านั้นคือลืมไปด้วยซ้ำว่าต้มน้ำไว้ อาจถามญาติว่าใครเป็นคนต้มน้ำ หรืออาจต้องคิด นานกว่าจะนึกออกว่าเป็นคนต้มไว้เอง เป็นต้น

เมื่อโรคดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นอกจากความจำที่แย่ลงเป็นลำดับ ก็จะมีอาการอื่นๆเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เช่น คิดเลขง่ายๆไม่ค่อยถูก ทอนเงินผิด การตัดสินใจหรือความคิดต่างๆไม่ค่อยสมเหตุสมผล ซึ่งผิดจากความจำเสื่อมทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมโดยธรรมชาติ อาจลืมของบ่อย เช่น มักลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ในห้องแล้วนึกไม่ออก แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ในตู้เย็น กล่าวคือ นอกจากความจำไม่ดีแล้ว ความมีเหตุผล การตัดสินใจหรือความคิดต่างๆ ก็จะผิดแปลก ออกไปด้วย

ระยะต่อไปก็จะเริ่มมีอาการที่ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติ เริ่มพบกับความลำบากหรือยุ่งยากมากขึ้น ได้แก่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางคนซึมลง บางคนก้าวร้าว บางคนเคยมีเหตุผล ใจเย็น ก็กลายเป็นไร้เหตุผล หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวบ่อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาการที่ญาติต้องคอยระวังคือ บางคนจะเดินไปเรื่อย โดยไม่มีจุดหมาย ไม่มีเหตุผล ที่สำคัญคือจะจำทางไม่ค่อยได้ ถ้าเดินออกไปนอกบ้าน มักจะกลับไม่ถูก บางคนเดินไปขึ้นรถเมล์นั่งไปๆกลับๆทั้งวัน จนตำรวจต้องช่วยพากลับบ้าน

ระยะหลังๆ ผู้ป่วยจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น แต่งตัว อาบน้ำ ทานข้าว โดยต้องให้ญาติคอยช่วยเหลือตลอด อาจไม่สามารถบอกเมื่อจะปัสสาวะ หรืออุจจาระ โดยปล่อยออกมาเองโดยอาจรู้หรือไม่รู้สึกตัวก็ได้ เมื่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จะเริ่มมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น การติดเชื้อในปอด หรือทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ ขาดสารอาหารเนื่องจากทานได้น้อย ร่างกายจะค่อยๆอ่อนแอลง ในที่สุดส่วนมากจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อน โดยระยะเวลาทั้งหมด ตั้งแต่อาการแรกจนเสียชีวิตนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละคน มีตั้งแต่ 3-4 ปี จนถึงเกือบ 20ปีก็มี แต่โดยเฉลี่ยจะประมาณ 8-10ปีเป็นส่วนใหญ่

การวินิจฉัยอาศัยการซักประวัติจากญาติที่ดูแล การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ( ตรวจเลือด,เอ็กซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือถ้าสงสัยสาเหตุบางอย่างอาจตรวจสมองด้วย คลื่นแม่เหล็ก (MRI)ถ้าจำเป็น) เพื่อดูให้แน่ว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นซึ่งรักษาได้ ซึ่งถ้าดูแล้วไม่มีสาเหตุอื่น แพทย์ก็มักจะพอแยกได้จากความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ โดยมีความแม่นยำในการวินิจฉัยประมาณ 80-90% เนื่องจากการวินิจฉัยให้ได้ 100% นั้น มีวิธีเดียว คือการตรวจชิ้นเนื้อของสมอง ซึ่งถ้าจะทำก็จะทำเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น

การรักษา ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ แต่มียาซึ่งอาจช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงได้ชั่วคราว แต่โรคก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เมื่อถึงระยะที่เป็นมากๆ ยาก็จะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม มีการพยายามคิดค้นยาเพื่อรักษา และวิธีการทางการแพทย์ที่จะใช้วินิจฉัย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เพื่อจะได้สามารถให้มีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ทั้งผู้ป่วยและญาติ หรือแม้แต่การวินิจฉัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพราะไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคต อาจมีการตัดต่อสารพันธุกรรมเพื่อไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์

ปัจจุบัน คนทั่วไปมักพูดถึงสมุนไพรบางชนิด หรือน้ำมันปลา ว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วยังไม่มีการยืนยันได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจชลออาการได้บ้าง คือทำให้อาการแย่ลงช้ากว่าที่ควรบ้างเล็กน้อย และไม่ได้ผลเสมอไป คือบอกไม่ได้ว่าใครได้ผลหรือใครไม่ได้ผล แต่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้แน่นอน

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจ ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด เช่น ถ้าคุยอะไรแล้วผู้ป่วยนึกไม่ค่อยออกหรือจำไม่ได้ ควรเปลี่ยนเรื่อง เอาเรื่องที่คุยแล้วมีความสุข หรือถ้ามีความคิดอะไรผิดๆ ไม่ควรเถียงตรงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อาจไม่ต้องอธิบายมาก เนื่องจากจะทำให้หงุดหงิด และหมดความมั่นใจ

ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ สดใส ใช้สีสว่างๆ ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจใช้การพาดเสื้อผ้า ไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้เห็นลูกบิด ต้องเก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาวล์เตาแก๊สไว้เสมอ เป็นต้น

ในรายที่มีอาการที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือ เดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยลดอาการดังกล่าว

สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

  1. อัลไซเมอร์เป็นโรค ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้น
  2. สาเหตุยังไม่ทราบชัด แต่น่าจะมีส่วนจากพันธุกรรม อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน
  3. ขณะนี้ ยังไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  4. การดูแล ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย
  5. ถ้ามีญาติที่เริ่มมีอาการหลงลืม ควรพบแพทย์ระบบประสาท อาจเป็นสาเหตุอื่นที่รักษาหายขาดได้
  6. โรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าหลงลืมบ่อยโดยที่อายุไม่มาก (20-50 ปี) มักเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนมากเกิดจากการพักผ่อนไม่พอ เครียด ไม่มีสมาธิ ควรแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยปรึกษาแพทย์ เพราะมักเป็นสาเหตุที่รักษาให้หายขาดได้
  7. ไม่ควรกลัวโรคนี้จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยเรื่องนี้มากมายทั่วโลก เชื่อว่าอีกไม่นานนัก อาจมียาที่รักษาหรือป้องกันได้
  8. ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ทานยาใดๆเพื่อป้องกัน เพราะมักไม่ได้ผล และยาหรือสมุนไพรหรืออาหารเสริมเหล่านี้ส่วนมากมีราคาแพง และมักโฆษณาเกินความจริง

โดย นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี  อายุรแพทย์ประสาท

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
8 June 2000

Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved.