Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ กรณีคนไข้โดนเหล็กแทงคอ

               ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านคงเคยได้ยินมาข่าวจากทาง
หน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่ามีคนไข้ผู้หญิงตกจากระเบียงโดน
เหล็กแหลมเสียบเข้าที่คอ
แล้วมาที่รพ.ข้อเท็จจริงในการรักษา
เป็นอย่างไร   เรามาดูรายละเอียดกันครับ 

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 
ผมได้รับแจ้งจากทาง รพ.ว่าจะมีคนไข้ตกจากที่สูงแล้วโดน
เหล็กเสียบเข้าที่ลำตัว
และกำลังถูกนำตัวมารักษา ที่โรงพยาบาล


ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ,9 พย 2542


ภาพจาก นสพ.มติชน,9 พย 2542

ประมาณ 10นาที ต่อมา ผู้ป่วยได้มาถึง รพ.

ปกติ เมื่อเราพบคนไข้ หลักการรักษาคนไข้ อุบัติเหตุฉุกเฉิน คือ 
เราจะดูแบบคร่าวๆทั้งระบบก่อนที่เรียกว่า Primary Survey 

คือ จะดูตาม ระบบหลักๆ 3 อย่าง จำง่ายๆคือ A B C

A คือ airway โดยจะดูทางเดินหายใจ ซึ่งใน ผู้ป่วยรายนี้ รู้สติดี ไม่มีอะไรอุดกั้นทางเดินหายใจ สามารถ พูดโต้ตอบได้

B คือ Breathing คือ ดูเรื่องการหายใจ ผู้ป่วยรายนี้ สามารถ หายใจได้เอง ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

C คือ Circulation คือ ระบบไหลเวียน นั่นคือ ดูเกี่ยวกับ ชีพจร ความดัน

      ในผู้ป่วยรายนี้ ความดันโลหิต คือ 110/80 mmHg  ซึ่งปกติ ชีพจร=120 ครั้ง/นาที ซึ่งเร็วเล็กน้อย ในรายนี้เกิดได้จากอาการตกใจ และ เสียเลือด
หลังจาก Primary Survey แล้ว เราจะทำ Secondary Survey ซึ่งก็คือ การตรวจรอบสอง แบบละเอียดครับ

สภาพคนไข้ที่มา รู้สติดี อยู่ในท่านอนคว่ำ มีเหล็กที่เป็นรั้ว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง
เหล็กดังกล่าว เสียบเข้าไป บริเวณ ที่หลังส่วนบนต่อกับต้นคอ ทิศทางไปทางขวา ไปออก บริเวณศีรษะ เหนือใบหูขวา
และห่างจากใบหูขวา ค่อนมาตรงกลาง ประมาณ 5 cm


มีแผลฉีกขาดที่ใบหูซ้ายด้านหลังที่โคนใบหูเห็นถึงกระดูกอ่อน ประมาณ 5 cm แผลฉีกขาดที่ไหล่ขวา ประมาณ 4 cm ลึกถึงชั้นไขมัน

มีรอยถลอกทั่วไปที่หลัง กระดูกสันหลังปกติดี ไม่เจ็บไม่คด  ปอดเสียงหายใจปกติ ช่องท้องไม่ปวด ไม่พบอาการบวม ที่สงสัยว่าจะมีกระดูกหักที่แขนและขา  ระบบประสาท อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยถามตอบได้ดี ขยับแขนขาได้ดี

หลังจากตรวจร่างกายเรียบร้อย ได้ประเมินว่า ผู้ป่วยต้องผ่าตัด เพื่อเอาเหล็กออก


ภาพจาก นสพ.เดลินิวส์
๙ พย 2542

ได้นำผู้ป่วยรายนี้ไปทำการ X-Ray 
เหตุผล ที่X-Ray ในผู้ป่วยที่โดนวัตถุแทง นอกจากจะดูว่ามีกระดูกหักที่ใด
วิถีของวัตถุนั้น ไปทางใด ที่สำคัญ ยังดูว่ามีวัตถุแปลกปลอมอื่นกระจายไตรงไหน
หรือมีอะไรเพิ่มมาหรือเปล่า

ซึ่งอันนี้จะสำคัญมากในกรณีที่เกิดจาก ปืน เพราะ ลูกกระสุนอาจแตก ออกไปหลายชิ้น บางทีลูกทะลุออกมาแต่อาจมีค้างอยู่ด้วยก็ได้ 
ซึ่งหลักการของการรักษาวัตถุแปลกปลอม คือ ถ้า เอาออกง่ายเอาออก 
เอาออกยาก,เสี่ยง ถ้า ไม่มีอาการไม่เอาออก แต่ถ้ามีอาการเช่น ติดเชื้อก็คงต้องเอาออก

 
มาดูรายนี้กันต่อครับ ในขณะที่กำลังทำอะไรต่างๆ เราก็ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดเพื่อรักษาระดับ ของเหลวในเส้นเลือดชดเชยเลือดที่เสียไป ให้วัคซีนป้องกัน โรคบาดทะยัก

จาก x-ray ของผู้ป่วยรายนี้ ไม่พบกระดูกหัก ไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆอื่นๆนอกจาก เหล็กที่เป็นรั้วท่อนโต ทิศทางของเหล็กไม่เข้าในกระโหลกศีรษะ แต่เฉียดออกมาทางด้านข้าง 
จากนั้นได้นำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดครับ 

ในห้องผ่าตัด 
ได้ทำการผ่าเพื่อเอาเหล็กออกโดยตามแนวของเหล็กที่แทงเข้าไป พบว่าเหล็กแทงผ่านทะลุชั้นกล้ามเนื้อเข้าไป
ตั้งแต่บริเวณที่หลังใกล้จะต่อกับต้นคอ ผ่าเข้าไปทุกชั้น จนถึง กะโหลกศีรษะส่วนที่นูนออกมาด้านหลัง 
และเกิดการแฉลบของเหล็กออกมาบริเวณที่ศีรษะ ห่างจากหูค่อนไปทางด้านบนประมาณ 5 cm 
สภาพของบาดแผล สกปรกพอประมาณ เนื่องจากขณะที่เหล็กแทง ผ่านเข้าไปนั้น ได้เอาเสื้อ 
เศษผมจากด้านบนๆ รวมทั้งเศษผงจากเหล็ก  ในการผ่าตัด ได้ใช้น้ำล้างออกเป็นจำนวนมาก เพราะสิ่งสกปรกพวกนี้
จะเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อครับ

จากนั้นได้ทำการซ่อมแซมแผล โดยซ่อมกล้ามเนื้อที่เกิดการฉีกขาดที่ละชั้น รวมทั้งเย็บซ่อมส่วนต่างๆ 
ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2 ชม.

 หลังผ่าตัด
ผู้ป่วยหลังผ่าตัด วันที่1 มีอาการดี ปวดแผลบ้าง แผลมีการบวมเล็กน้อย แต่ไม่มีลักษณะของการติดเชื้อ ทานอาหารได้ดี
หลังจากนั้น ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ได้รับการเปลี่ยนแผลวันละครั้งทุกวัน แผลก็อยู่ในเกณฑ์ดี
ไม่มีลักษณะของการติดเชื้อ
เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก จึงอนุญาติให้กลับบ้าน ใช้เวลาพักรักษาตัวที่ รพ. ประมาณ 5 วัน ครับ

กรณีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุการณ์มา ผู้ป่วยมาถึง รพ. แต่ในกรณีที่ เราเจอคนไข้ในสถานที่เกิดเหตุ
ที่เกิดจากเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว  เราควรช่วยเหลืออย่างไร

  1. ใช้หลักการ primary survey ดังที่กล่าวข้างต้น นำผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก ในกรณีที่ไม่ทราบว่ากระดูกต้นคอหักหรือไม่  ให้ยกผู้ป่วยด้วยความระมัดระวัง อาจใช้มือประสานกัน
    ยกทั้งท้ายทอยและ ลำตัวไปพร้อมกัน ในเมืองนอกการ tranfer เขาจะทำได้ดีมาก 
    ดูจากในหนัง ER ซึ่งสะท้อน  ตรงจุดนี้ได้ดี
     
  2. กรณีเจอคนไข้ที่มีเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นมีดหรือเหล็ก เสียบอยู่ในร่างกายไม่ว่าส่วนใดๆ ห้ามดึงเหล็กออกจากตัวคนไข้ก่อนมา รพ.
    ถ้าจะนำผู้ป่วยมารพ. ให้นำมาด้วยทั้งเหล็ก หรือ มีด ฯลฯ  บางท่านอาจเคยได้ยินคนโบราณ ที่ว่า ถ้าดึงออกจะทำให้เสียชีวิต  อันนี้เป็นความจริงครับ เพราะ บางครั้ง เหล็กหรือมีดนั้น ได้แทงผ่าน
    ทะลุหลอดเลือดขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้หลอดเลือดนั้นฉีกขาดและเสียเลือด  แต่ในขณะที่เหล็กยังคาอยู่นั้น
    อัตราการไหลของเลือดจะยังช้า เพราะ เหล็กอุดรูฉีกขาด ถ้าเกิดเราดึงเหล็กออก อัตราการเสียเลือด
    จะสูงขึ้นทันที  ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
     
  3. กรณีที่มีสารเคมีร่วมด้วย ให้ล้างแผลหรือ ร่างกายด้วยน้ำก๊อกธรรมดาเท่านั้นพอครับ ไม่ต้องใช้ยาสีฟัน
    ขี้เถ้า หรือ น้ำปลา มาช่วยเพราะจะทำให้การติดเชื้อสูงขึ้น
     
  4. ถ้ามีแผลที่มีเลือดออกมาก ให้ใช้ผ้ากดเข้าไปที่แผล กดนานๆ หรือ ถ้าออกมากให้กดจนกว่าจะมาถึง รพ.จะช่วยลดการเสียเลือดได้ครับ
     
  5. นำผู้ป่วยไป รพ.ที่ใกล้ที่สุด

โดย   นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์   ศัลยแพทย์

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
16  Novem
ber 1999

Copyright (c) 1998-1999, ThaiClinic.com. All Right Reserved.